วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

เทคนิคพ่อแม่ญี่ปุ่น เมื่อ"รัก"สร้างอัจฉริยะได้

คุณมายูมิ ชิจิดะ


กระแสการอบรมเลี้ยงดู "อนาคตของชาติ" หรืออนาคตของพ่อแม่ให้กลายเป็น "เด็กอัจฉริยะ" ได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่พ่อแม่ต่างมองหาแนวทางดี ๆ เข้ามาช่วยขับอัจฉริยภาพของเด็กให้ปรากฏ

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจหลงลืมกันไป และเป็นวิธีง่าย ๆ ในการสร้างลูกให้เก่ง และดี โดยไม่ต้องไปลงเรียนพิเศษคอร์สละหลายสตางค์ก็คือ "ความรัก" จากพ่อแม่นั่นเอง

โดยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่มีการศึกษาวิจัย ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเต็มที่ประเทศหนึ่งของโลกก็มีการค้นพบว่า การเลี้ยงลูกให้ฉลาดนั้น ประกอบด้วย 3 แนวทางง่าย ๆ เท่านั้น ได้แก่ "การชื่นชม การแสดงความรัก และการยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น"

คุณมายูมิ ชิจิดะ รองประธานสถาบันการศึกษาชิจิดะ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กเผยว่า "เทคนิคการเลี้ยงลูกให้ฉลาดที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นใช้ก็คือ การให้ความรักกับเด็กในทางที่ถูกต้อง ประกอบด้วย 3 สิ่งได้แก่ การชื่นชม การแสดงความรัก และการยอมรับในตัวเด็ก โดยพ่อแม่สามารถแสดงความรักกับลูกได้ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพียงแค่โอบกอดลูกไว้ในอ้อมแขน ให้เขาสัมผัสถึงความอบอุ่น และหากลูกโตขึ้น ก็สามารถทำได้ด้วยการชื่นชม และการยอมรับในความสามารถของเขา"

ทั้งนี้ หากจะขยายความเทคนิคดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมขึ้น คุณมายูมิเฉลยว่า ประกอบด้วยขั้นตอนง่าย ๆ 6 ขั้นตอนเท่านั้น ได้แก่

1.ไม่ตอกย้ำจุดอ่อนของลูก แต่ให้ความสำคัญกับจุดเด่นของลูกแทน เพราะการมองที่จุดเด่นของลูกนั้นจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจ และเป็นแรงผลักดันให้เขาพัฒนาความสามารถต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ทำเช่นนี้ได้ จะพบว่า จุดอ่อนของลูกนั้นจะค่อย ๆ หายไปในที่สุด

2. ขอให้เปรียบพัฒนาการของลูกเหมือนต้นไม้ ที่ ณ ปัจจุบัน เขาคือต้นอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในวันที่ลูกเป็นต้นอ่อน เขาจึงยังไม่สามารถแตกกิ่งก้านสาขา และยังไม่สามารถออกดอกออกผลให้คุณได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องอย่าคาดหวังว่าต้นอ่อนต้นนี้จะออกผลให้คุณชื่นชมได้ในทันที



3. พ่อแม่อย่าเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ และนำเอานิสัยนั้นมาใช้วัดความสามารถของลูก

4. ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะเด็กแต่ละคนย่อมมีอุปนิสัย ตลอดจนความสามารถ ความถนัดที่แตกต่างกัน

5. ไม่ตั้งความสำเร็จของลูกจากการศึกษา หรือคะแนนสอบ แต่ขอให้พิจารณาจากความพยายามของเด็กเป็นอันดับแรก นอกจากนั้นแล้วพ่อแม่ยังอาจเข้ามาช่วยค้นหาจุดบกพร่อง และแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้นด้วย

6. พยายามทำความเข้าใจตัวตนของลูก และเอาใจใส่แก้ไขในสิ่งที่เขาควรปรับปรุง

"ข้อที่สำคัญที่สุดจาก 6 ข้อด้านบนคือ การไม่เปรียบเทียบลูกตนเองกับเด็กอื่น ๆ เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เด็กขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่"

"ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันก็คือ มีพ่อแม่ที่ไม่เคยถามว่าลูกต้องการอะไร อยากเป็นอะไร พ่อแม่เป็นคนตัดสินใจเองว่าลูกควรเรียนเปียโน เรียนบัลเล่ต์ แต่เด็กไม่มีแรงจูงใจในการเรียน วิธีที่เหมาะสมกว่าคือ การเรียกลูกมาถาม ว่าลูกอยากเป็นอะไร ให้เด็กคิด แล้วพ่อแม่จึงสนับสนุนเขาในทางที่ลูกชอบ"

ทั้งนี้ คุณมายูมิได้ฝากข้อคิดถึงผู้ปกครองที่ต้องการบ่มเพาะความอัจฉริยะของเด็กด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้าง "สภาพแวดล้อม" ที่เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถของเขาให้ถึงขีดสุดนั่นเอง

เพราะในความเป็นจริงแล้ว เด็กอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ก็มีชื่อเสียงก้องโลกได้โดยไม่ต้องสมัครเรียนคอร์สพิเศษใด ๆ เพียงแค่เขามีมารดาที่ให้ความรัก และความทุ่มเทอย่างเต็มที่เท่านั้น หรือหากมองกลับมาที่เด็กอัจฉริยะหลาย ๆ คนของไทย ส่วนใหญ่แล้วต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาได้รับ "ความรัก" และ การ "สนับสนุน" จากคนในครอบครัว เขาถึงมีวันที่ประสบความสำเร็จที่น่าชื่นชมนั้นได้ นั่นจึงเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า แท้ที่จริงแล้ว ความรักของพ่อแม่ก็คือ สิ่งที่พิเศษที่สุดที่โลกเตรียมไว้ให้สำหรับการสร้างอัจฉริยะให้เกิดขึ้นสักหนึ่งคนนั่นเอง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2554

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

เจาะคณิตศาสตร์ปฐมวัย พ่อแม่ทราบหรือไม่ลูก ๆ เรียนอะไรกัน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 พฤศจิกายน 2554

เมื่อเอ่ยถึงวิชาคณิตศาสตร์ ต้องยอมรับว่าพ่อแม่ชาวไทยหลายคนเคยมีอดีตอันขมขื่นกับวิชานี้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิด ทำให้มนุษย์คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน ตลอดจนมีการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบ นอกจากนั้นคณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์อื่น ๆ อีกหลายแขนง


สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นวัยเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ มีความอยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต ชอบเล่น และสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การส่งเสริมให้เด็กในวัยนี้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และมีเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ ไม่เพียงส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ในศาสตร์อื่น ๆ คณิตศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญทั้งในการเรียนรู้และมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

เด็กปฐมวัยเรียนรู้อะไรในคณิตศาสตร์

การเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับปฐมวัย มุ่งหวังให้เด็กทุกคนได้เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา โดยกำหนดสาระหลักที่จำเป็นสำหรับเด็ก ได้แก่ จำนวนและการดำเนินการ จำนวน การรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม การวัด ความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เงิน และเวลา เรขาคณิต ตำแหน่ง ทิศทาง ระยะทาง รูปเรขาคณิตสามมิติและรูปเรขาคณิตสองมิติ พีชคณิต แบบรูปและความสัมพันธ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น การเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำเสนอ ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ การแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์และการนำเสนอ การเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ และเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ และมีความคิดสร้างสรรค์

ว่าแต่ว่า คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่าในแต่ละช่วงวัยของลูก เด็ก ๆ ควรมีความรู้ความเข้าใจในคณิตศาสตร์ในระดับใดบ้าง ทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กำหนดคุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงอายุ ว่าควรมีความซับซ้อนแตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ

คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 3 ปี ควรมีความสามารถดังนี้

1) มีความรู้ ความเข้าใจและมีพัฒนาการด้านความรู้สึกเชิงจำนวน เกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินห้า และเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม
2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถเปรียบเทียบ และใช้คำเกี่ยวกับการเปรียบเทียบความยาว น้ำหนัก และปริมาตร และเวลา สามารถเปรียบเทียบ และใช้คำเกี่ยวกับการเปรียบเทียบความยาว น้ำหนัก และปริมาตร สามารถบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน
3) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง สามารถใช้คำบอกตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ รู้จักทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากจากสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และใช้ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก สร้างสรรค์งานศิลปะ

คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 4 ปี ควรมีความสามารถดังนี้

1) มีความรู้ ความเข้าใจและมีพัฒนาการด้านความรู้สึกเชิงจำนวน เกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินสิบ และเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม
2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถเรียงลำดับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเช้า เที่ยง เย็น และเรียงลำดับกิจกรรม หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันตามช่วงเวลา
3) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง สามารถใช้คำบอกตำแหน่งและแสดงของสิ่งต่าง ๆ สามารถจำแนกทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก และใช้ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก กรวย ทรงกระบอกสร้างสรรค์งานศิลปะ 4) มีความรู้ ความเข้าใจ แบบรูปของรูปที่มีรูปร่าง ขนาด สี ที่สัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถทำตามแบบรูปที่กำหนด



คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 5 ปี ควรมีความสามารถดังนี้

1) มีความรู้ ความเข้าใจและมีพัฒนาการด้านความรู้สึกเชิงจำนวน เกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินยี่สิบ และเข้าใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม และการแยกกลุ่ม
2) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เวลา และเงิน สามารถวัดและบอกความยาว น้ำหนัก และปริมาตร โดยใช้เครื่องมือและหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยมาตรฐาน สามารถเรียงลำดับเรียงลำดับชื่อวันในหนึ่งสัปดาห์และบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ เข้าใจเกี่ยวกับเงิน สามารถบอกชนิดและค่าของเงินเหรียญและธนบัตร
3) มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง ทิศทางและระยะทาง สามารถใช้คำบอกตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทาง และแสดงตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทางของสิ่งต่าง ๆ สามารถจำแนกทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก กรวย ทรงกระบอก และจำแนกรูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปเรขาคณิตสองมิติที่เกิดจากการตัด ต่อเติม พับ หรือคลี่ และสร้างสรรค์งานศิลปะจากรูปเรขาคณิตสามมิติและสองมิติ
4) มีความรู้ ความเข้าใจ แบบรูปของรูปที่มีรูปร่าง ขนาด สี ที่สัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถต่อแบบรูปที่กำหนดและสร้างเพิ่มเติม
5) มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลในรูปแผนภูมิอย่างง่าย

ส่วนเทคนิคจูงใจให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์อีกประการหนึ่งคือ ให้เด็กได้เรียนรู้ และค้นพบสิ่งท้าทาย ด้วยกิจกรรม และเกมที่ช่วยฝึกทักษะคณิตศาสตร์ให้เด็กได้ร่วมสนุกพร้อมสอดแทรกเนื้อหาความรู้เข้าไปนั่นเอง ซึ่งหากไม่มีในหนังสือที่โรงเรียนจัดหามาให้ ก็อาจไปหาซื้อเองได้ตามร้านหนังสือทั่วไปค่ะ

ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นโอกาสดีของพ่อแม่ในยุคนี้ที่ (เคยไม่ชอบคณิตศาตร์เอาเสียเลย) จะได้ลองเรียนรู้ และหากิจกรรมสนุก ๆ มาเล่นกับลูกไปพร้อม ๆ กับการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ ทีมงานเชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่ที่ขยาดกับการเรียนคณิตศาสตร์ยุคก่อนมา (แบบที่มีการบ้านเป็นตั้ง ให้นั่งทำกันหัวฟู) คงมีความสุข และมีทัศนคติที่ดีในการสอนคณิตศาสตร์ลูก ๆ กันมากขึ้นค่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก สสวท.

หมายเหตุ : ทาง สสวท. ได้จัดทำแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ตามสาระ มาตรฐาน และตัวชี้วัด รวมทั้งตัวอย่างกิจกรรมไว้อย่างละเอียดและชัดเจน เพื่อให้ครูและผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางจัดประสบการณ์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 และสามารถเชื่อมต่อกับสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่นางนงลักษณ์ ศรีสุวรรณ เลขานุการคณะกรรมการกำหนดแนวทางการจัดทำคู่มือกรอบมาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ปฐมวัย ฯ สาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. โทร. 0-2390-4021 ต่อ 2501 อีเมล์ nsris@ipst.ac.th

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

มากระตุ้นสมองลูกให้ฉลาด (อย่างถูกวิธี) กันเถอะ

อีกบทความนึง ให้เครดิตเค้าหน่อย ASTVผู้จัดการออนไลน์( 25 กรกฎาคม 2554 )


ทุกวันนี้ ปฏิเสธได้ยากว่า หัวข้อการกระตุ้นพัฒนาการด้านสมองของลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนให้ความสนใจกันมาก แต่ทว่าบางคนในจำนวนหลายคนนั้น ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจนนำไปสู่การกระตุ้นพัฒนาการเด็กอย่างไม่ถูกทาง

บอกเล่าได้จาก พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกงานวิจัยเรื่องสมองเด็กไทย ที่มองว่า คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยเลี้ยงลูกผิดวิธี ส่งผลให้เด็กยิ่งเติบโตพัฒนาการด้านต่าง ๆ ยิ่งลดต่ำลง

"ตอนนี้เราฝึกเด็กแบบไม่ประณีต ชุ่ย ๆ แบบสำเร็จรูป บางคนเลี้ยงลูกด้วยโทรทัศน์ แต่หารู้ไม่ว่า โทรทัศน์ไปทำลายสมองส่วนหน้า ทำให้เด็กเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบคิด และกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น" พญ.จันทร์เพ็ญกล่าวไว้ในงานอบรม อ่านสมอง ช่องทางสร้างเด็กฉลาด Smart Kids จัดโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และบริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด

สอดรับกับงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่เปรียบเทียบระดับไอคิวของเด็กที่ดูโทรทัศน์วันละ 1 ชั่วโมงกับเด็กที่ไม่ดูโทรทัศน์เลย พบว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ระดับพัฒนาการของเด็กที่ดูโทรทัศน์จะต่ำกว่าเด็กที่ไม่ดูอย่างชัดเจน

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจพัฒนาการของลูก ด้วยการพูด และอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ รวมทั้งเด็กก่อน 6 ขวบควรได้สัมผัสของจริงมากกว่าการดูจากโทรทัศน์ เพราะจะเป็นพื้นฐานต่อยอดให้เด็กเข้าใจความหมายที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น ที่สำคัญความอ่อนโยน ละเมียดละไมจากสัมผัส และน้ำเสียงของพ่อแม่จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองเด็ก ทำให้ลูกเติบโตอย่างสวยงาม และมีความฉลาดทางอารมณ์


อย่างไรก็ดี พญ.จันทร์เพ็ญ มีข้อแนะนำในทางปฏิบัติให้คุณพ่อคุณแม่นำไปช่วยลูกปฐมวัย หรือก่อน 6 ขวบเพื่อกระตุ้นสมอง และพัฒนาการทางภาษาอย่างถูกวิธี ตามแนวทางดังต่อไปนี้

- คุยกับลูกอย่างสนุกสนาน ลูกต้องคุ้นเคย และได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่บ่อยที่สุดเท่าที่จะบ่อยได้ บอกเขาว่า คุณคือใคร คุณกับลูกอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ และอธิบายถึงสิ่งรอบตัวที่ลูกเห็น ได้ยินเสียง และสัมผัสได้ เริ่มจาก สิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ไปสู่สิ่งที่ใหญ่ขึ้น และไกลตัวออกไป รวมถึงการทักทายเด็กตั้งแต่ตื่นนอนเป็นประจำทุกวัน พร้อมกับโอบกอด หอมแก้ม หรือหยอกล้อไปด้วยจะยิ่งกระตุ้นสมองมากขึ้น


- รับฟังลูกอย่างอดทน และตั้งใจ แม้ในช่วงแรก ๆ จะยังไม่เข้าใจภาษา หรือคำพูดที่ลูกใช้ แต่เมื่อลูกรับรู้ว่ามีคนตั้งใจฟังเขา จะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากฝึกออกเสียง หรือเปล่งคำพูดใหม่ ๆ มากขึ้น และอย่าเบื่อที่จะตอบคำถามลูก เพราะการขยันตอบคำถามลูกวัยเด็กเล็กก็เพื่อกระตุ้นสมองให้เด็กเป็นคนกล้าคิด ทำให้เกิดวงจรเรียนรู้แบบถาวร

- ให้เวลาลูกตอบสนองหรือตอบคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กเล็ก ๆ ต้องการเวลาทำความเข้าใจ เพื่อเรียบเรียงความคิดก่อนที่จะสามารถสื่อสารกับคุณได้ ดังนั้นอย่าใจร้อน เร่งรัด หรือพูดแทน หรือพยายามเติมคำในช่องว่างเวลาที่ลูกพูดกับเรา ควรให้เขาได้พยายามคิด และพูดออกมาด้วยตัวเอง

- พูดคำง่าย ๆ สั้น ๆ และช้า ๆ เพราะในสมองลูกยังมีคำจำกัด อายุเขาต่างจากเรามาก ความเข้าใจในถ้อยคำต่าง ๆ จึงยังมีไม่มาก หากต้องอธิบายอะไรให้ลูกเข้าใจ ต้องปรับประโยคให้ง่าย สั้น ชัดเจน พูดทีละเรื่อง แล้วลูกจะเรียนรู้คำต่าง ๆ ได้รวดเร็ว

- ตอบสนอง และชื่นชมกับความพยายามของลูกที่จะสื่อสารกับเรา ไม่จำเป็นต้องคอยแก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด แต่สิ่งที่ควรทำคือ ทบทวนคำ หรือประโยคที่ลูกพูดให้ถูกต้อง เช่น ลูกพูดว่า "แม่ไปหลาด" แทนที่จะตำหนิว่า "ไม่ใช่ ๆ ลูกพูดผิด" ควรทวนโยคของลูกด้วยประโยคที่ถูกต้อง คือ "จ้ะ แม่ไปตลาด"

- เล่าให้นิทานให้ลูกฟัง ลองคิดเรื่องขึ้นเอง เด็กเล็กชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรือเกี่ยวกับเรื่องที่เขาคุ้นเคยในกิจวัตรประจำวัน อ่านหนังสือกับลูกทุกวัน พูดคุยกับเขา อธิบายรูปภาพ สี รูปทรง จำนวน และคำต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือ เชื่อมโยงภาพเข้ากับคำ ทั้งนี้ยังสามารถใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น ปั้นแป้งโด ใช้สีเทียนแท่งโต ๆ วาดภาพขณะที่อ่านหนังสือ และคุยกับลูกไปพร้อม ๆ กันก็ได้

ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาด ทำได้ไม่ยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องขยันตั้งใจจริง ที่สำคัญต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบเสมอ