วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไทรอยด์เป็นพิษกับคนท้อง

ถึงโรคไทรอยด์เป็นพิษจะพบไม่มากในคุณแม่ท้องเพราะจากข้อมูลโรงพยาบาลศิริราช พบว่าในคุณแม่ 300 คน จะพบที่ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ 1 คน แต่หากเป็นขึ้นมาแล้ววิธีง่ายๆ ก็คือการดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวเองและลูกในท้องครับ
1. คุณละเลย อายุ 28 ปี เป็นนักเขียนในนิตยสารชื่อดัง เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น กินเก่งแต่กลับผอมลง เมื่อไปตรวจกับคุณหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ได้ให้การรักษาโดยกินยาควบคุมและนัดมาตรวจเป็นระยะๆ แต่คุณละเลยก็ไปตามนัดไม่ค่อยสม่ำเสมอ เพราะไม่ค่อยว่าง และอาการของโรคก็ไม่มีอะไรรุนแรงมากนัก

ประมาณ 1 ปีก่อนคุณละเลยแต่งงาน หลังจากนั้นไม่นานก็ตั้งครรภ์ คุณละเลยได้ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐที่เคยไปรักษาไทรอยด์ ขณะอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ได้รับการตรวจเลือด ผลปรากฏว่าระดับฮอร์โมนไทร็อกชินสูงมาก และยังพบว่าคุณละเลยค่อนข้างซีดด้วย คุณหมอได้ให้ยารักษาไทรอยด์และยาบำรุงเลือดไปกิน แต่คุณละเลยก็กินยาไม่สม่ำเสมอ และไม่มาตรวจตามที่คุณหมอนัด
ขณะตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์ คุณละเลยงานยุ่งมาก อดนอนมาหลายวันแถมยังเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยน ฝนตกบ่อย คุณละเลยไม่สบาย มีไข้ขึ้นสูงตอนแรกนึกว่าเป็นแค่หวัดธรรมดา แต่กลับมีอาการหนาวสั่น ตัวร้อนมากจึงไปโรงพยาบาล คุณหมอตรวจพบว่ามีไข้สูงถึง 40 องศา มีอาการเหม่อลอยไม่ค่อยรู้สึกตัว แถมยังมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ปากแห้งมาก อ่อนเพลีย คุณหมอวินิจฉัยว่า คุณละเลยมีอาการไทรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง หรือภาษาแพทย์เรียกว่าไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ (Thyroid Crisis) ต้องรับไว้รักษาในหอผู้ป่วยหนัก และให้การรักษาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้สารน้ำอาหารทางสายยาง ยารักษาไทรอยด์ที่จะเป็นหลายชนิด รวมทั้งให้ยาลดความดันโลหิต เนื่องจากพบว่าความดันโลหิตสูงมากด้วย
หลังจากรักษาตัวอยู่ 2 วัน คุณละเลยเกิดเจ็บท้องคลอด คุณหมอจึงทำคลอดให้เป็นทารกเพศหญิง น้ำหนัก 2,100 กรัม พบว่าติดเชื้อ ตัวเหลืองหายใจเร็ว ต้องรับตัวไว้รักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดนานถึง 3 สัปดาห์จึงกลับบ้านได้ ส่วนคุณละเลยต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 เดือน จึงกลับบ้านได้
2. คุณทอดทิ้ง อายุ 23 ปี เป็นพนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อนรู้สึกว่าประจำเดือนของตัวเองมาน้อยกว่าปกติ หงุดหงิดง่าย ใจสั่น ขี้ร้อน เมื่อไปตรวจร่างกายจึงทราบว่าตัวเองเป็นไทรอยด์เป็นพิษ คุณหมอก็ได้ให้ยามากิน แต่คุณทอดทิ้งกินยาไม่สม่ำเสมอเนื่องจากงานยุ่งมาก
ประมาณ 8 เดือนก่อน คุณทอดทิ้งเริ่มตั้งครรภ์และไปฝากครรภ์กับคุณหมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณหมอที่ดูแลได้กำชับให้คุณทอดทิ้งกินยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษให้สม่ำเสมอ เพื่อจะได้คุมอาการของโรคให้ได้แต่คุณทอดทิ้งก็ทำไม่ได้เพราะงานยุ่ง ในช่วงระยะที่ตั้งครรภ์นี้คุณทอดทิ้งยังมีอาการมือสั่น ใจสั่นบ้างเล็กน้อย กินยาบ้างไม่กินบ้าง
ขณะอายุครรภ์ได้ประมาณ 35 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณทอดทิ้งงานยุ่งมากจนไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง แต่สังเกตว่าลูกดิ้นน้อยลงจนผิดปกติ จึงรีบมาพบคุณหมอ เมื่อตรวจร่างกายและอัลตราซาวนด์ คุณหมอพบว่าลูกในท้องเสียชีวิตแล้ว และยังพบอีกว่าตัวคุณทอดทิ้งเองก็ความดันโลหิตสูง คุณหมอจึงให้ยาเร่งคลอด และยาลดความดันร่วมด้วย ผลการคลอดได้ทารกที่เสียชีวิตแล้ว เป็นทารกเพศชาย น้ำหนัก 1,700 กรัม ส่วนคุณทอดทิ้งต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์จึงกลับบ้านได้
ผู้ป่วยทั้ง 2 รายเป็นตัวอย่างของผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก จนทำให้เกิดทั้งปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากต่อการดูแลรักษา รวมทั้งยังเสี่ยงชีวิตของทั้งแม่และลูกด้วย

รู้จักไทรอยด์
ไทรอยด์เป็นชื่อของต่อมชนิดหนึ่งที่วางอยู่บริเวณด้านหน้าตรงบริเวณลูกกระเดือก ปกติจะคลำไม่พบ มองไม่เห็น หน้าที่หลักของต่อมไทรอยด์คือการสร้างสารเคมีชนิดหนึ่งแล้วปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด สารเคมีที่ว่าชื่อว่า “ฮอร์โมนไทร็อกชิน” ภายหลังเข้าสู่กระแสเลือดฮอร์โมนตัวนี้จะกระจายไปควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายในหลายลักษณะงาน เช่น ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้สมดุล ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ราบรื่น ควบคุมการเต้นของหัวใจให้ปกติ ฯลฯ
พิษสง…ไทรอยด์เป็นพิษ
โดยปกติต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนไทร็อกชินออกมาในปริมาณที่เหมาะสมเพราะถ้าสร้างมากหรือน้อยเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผมจะลองเปรียบเทียบการทำงานของต่อมไทรอยด์กับเครื่องยนต์ของรถยนต์ดูนะครับ สมมติว่าเรามีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง ถ้าเครื่องยนต์ของรถคันดังกล่าวเกิดมีปัญหาเครื่องไม่ยอมดับ แถมเวลาเร่งเครื่องแค่นิดหน่อย เครื่องก็กลับเร่งมากจนควบคุมไม่อยู่ผลดังกล่าวจะทำให้ตัวรถร้อนและผลาญน้ำมันตลอดเวลา และถ้าวิ่งไปบนถนนรถก็อาจจะสั่นหรือซนอะไรได้ง่าย ในทางตรงกันข้าม ถ้ารถที่ว่ามีเครื่องยนต์ที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เร่งเครื่องเท่าไรก็ไม่ค่อยยอมจะวิ่ง วิ่งอืด หรือเครื่องดับง่าย กรณีนี้ก็ทำให้รถยนต์ใช้การไม่ค่อยจะได้เช่นเดียวกัน
การทำงานของต่อมไทรอยด์ของคนเราก็เปรียบได้กับการทำงานของเครื่องยนต์ กล่าวคือถ้าต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทร็อกชินออกมามากกว่าปกติ ก็จะทำให้คนคนนั้นมีอาการอยู่ในสภาพที่อยู่ไม่สุข กล่าวคือจะรู้สึกขี้ร้อน หงุดหงิด มือสั่นใจสั่น ประจำเดือนรวน มาน้อย บางคนเป็นมากอาจมีอาการตาโปนออกมา เราเรียกคนที่มีลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น “โรคไทรอยด์เป็นพิษ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hyperthyroidism หรือ Thyrotoxicosis นั่นเองแหละครับ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนตัวนี้น้อยกว่าปกติ ร่างกายก็จะถูกกระตุ้นให้ทำงานน้อยลง ส่งผลให้เป็นคนเชื่องช้า อ้วนฉุ ขี้เกียจ มักง่วงนอน ซึ่งถือเป็นโรคชนิดหนึ่งเหมือนกันเรียกว่า “โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ” หรือเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Hypothyroidism โรคที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกตินี้ถ้าเกิดขึ้นในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กคนนั้นโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีปัญหาปัญญาอ่อนได้นะครับ
โดยทั่วไปแล้ว เราพบคนที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษมากกว่าคนที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติครับ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วโรคนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบคือยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด บางคนว่าจากกรรมพันธุ์จากอาหาร จากสิ่งแวดล้อม สารพัดจะคิดสรุปก็คือยังไม่ทราบ ยกเว้นในเด็กที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคนี้และกินยาควบคุมโรคนี้มากเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติได้ครับ
ไทรอยด์เป็นพิษกับการตั้งครรภ์
คนที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษถ้าเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจะมีผลกระทบอะไรไหม หลายคนคงอยากจะทราบคำตอบใช่ไหมครับ
ถ้าจะพูดกันให้ครบถ้วนแล้ว ก็ต้องไล่ตั้งแต่เริ่มจะมีการตั้งครรภ์เลยครับว่า คนที่เป็นโรคนี้อาจจะมีลูกยาก เนื่องจากการตกไข่จะถูกรบกวน แต่ถ้าตั้งครรภ์ได้ก็อาจจะมีปัญหาว่าลูกน้อยในท้องมีการเจริญเติบโตไม่ดี เนื่องจากสารอาหารที่ลูกควรจะได้จากแม่ถูกเผาผลาญทิ้งไปเฉยๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เหลือไปยังลูกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น บางคนที่โรครุนแรงมากลูกอาจจะตายในครรภ์เลยก็ได้ อย่างรายของคุณทอดทิ้งที่ยกตัวอย่างนั่นแหละครับ อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ทำให้ลูกพิการแต่อย่างใด
สำหรับตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เองพบว่าถ้าควบคุมอาการของโรคให้ดีก็ไม่น่าเกิดปัญหาอะไร แต่ถ้าควบคุมโรคได้ดี อาจทำให้เสี่ยงชีวิตได้จากการที่ร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป บางคนอาจจะหัวใจวายไตวาย หมดสติ มีอาการขาดน้ำ เหมือนกับรายของคุณละเลยที่ยกมาเป็นตัวอย่าง
3 วิธีรักษา

ไข้ยา วิธีรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษที่ดีก็คือ ต้องควบคุมให้ต่อมไทรอยด์ทำงานโดยการสร้างฮอร์โมนไทร็อกชินออกมาในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันเราใช้ยาในการควบคุมการทำงาน ยากที่ใช้กันบ่อยและได้ผลดีคือ PTU (Propylthiouracil) ซึ่งจะช่วยปรับลดปริมาณฮอร์โมนไทร็อกชินให้อยู่ระดับใกล้เคียงปกติเพื่อให้อาการสงบ
คนที่เป็นโรคนี้ต้องกินยาตัวนี้ไปเรื่อยๆ และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคหลายคนคงสงสัยว่า แล้วจะต้องกินยาไปนานซักเท่าไรถึงจะเลิกได้ คำตอบก็คือบอกยากครับ บางคนกินไม่นานอาการของโรคก็หยุดไปและเลิกยาแล้วก็ไม่มีอาการ บางคนอาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายต้องกินยาบ้าง หยุดบ้างไปเรื่อยๆ บางคนหยุดยาไม่ได้เลย ก็มี ขืนหยุดโรคแผลงฤทธิ์เลยทันที เอาเป็นว่าตัวใครตัวมันก็แล้วกันครับ

ดื่มน้ำแร่ การดื่มน้ำแร่บางชนิดสามารถไปช่วยลดจำนวนเซลล์ของต่อมไทรอยด์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทร็อกชินได้ เพื่อจะลดการผลิตฮอร์โมนออกมา ร่างกายจะได้ถูกระตุ้นในทำงานน้อยลง แต่ถ้าดื่มมากไปก็อาจทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป กลายเป็นเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติก็เป็นได้ครับ
ผ่าตัด บางคนที่กินยาหรือดื่มน้ำแร่แล้วก็ยังไม่ค่อยได้ผล ก็ต้องใช้วิธีผ่าตัดเอาเนื้อต่อมไทรอยด์บางส่วนออก เพื่อลดปริมาณการผลิตฮอร์โมนไทร็อกชินลง การผ่าตัดที่ว่านี้มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะใกล้เคียงกับต่อมไทรอยด์ที่ทารกผ่าตัด ยังมีต่อมอีกต่อมหนึ่งเรียกชื่อว่าต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Gland) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณแคลเซียมในร่างกาย และก็ยังมีเส้นประสาทที่ควบคุมการใช้เสียงพูดอยู่ข้างๆ และทั้งต่อมและเส้นประสาทที่ว่าก็มีขนาดเล็กเหลือเกิน จนดูแทบไม่ออก ถ้าผ่าตัดไม่ดีไปโดนต่อมหรือเส้นประสาทที่ว่าเข้าก็เป็นเรื่องเหมือนกัน กล่าวคืออาจทำให้เกิดปัญหากระดูกบางหรือเสียงแหบตามมาได้ เป็นไง…อ่านแล้วเหนื่อยไหมครับ
จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคนี้ก็เหมือนการพยายามที่จะจูนคลื่นวิทยุหรือปรับความแรงของเครื่องยนต์ให้ทำงานในระดับปกติ ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องค่อยๆ ทำไปดังนั้นการรักษาที่ดีอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ถ้าคุณแม่ท่านใดเป็นโรคนี้ ก็อยากจะฝากข้อแนะนำว่าพยายามมีวินัยในการกินยานะครับ ทำตัวให้สบาย ไม่หาเรื่องเครียดใส่ตัวจนเกินไป พักผ่อนให้เพียงพอแค่นี้ก็น่าจะพอ ขอให้คุณแม่ที่เป็นโรคนี้ทุกคนตั้งครรภ์และคลอดโดยปลอดภัยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2550
จากเวปwomen.kapookจ้า

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

10 โรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง

เมื่อเรามีปัญหาเราก็ย่มต้องการคำตอบ บางคนอาจไม่ได้เป็นแค่ไธรอยด์ ข้อมูลนี้ดีค่ะ มีทั้งสาเหตุ วิธีการรักษา(และคำปลอบใจไม่ให้กังวลมากเกินไปจากคุณหมอด้วย)ลองอ่านดูนะคะ
(ข้อมูลจาก เวปbeing-mom อ้างถึง รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=511)

เมื่อคุณแม่มีการตั้งครรภ์ ร้อยทั้งร้อยต่างก็ต้องการให้การตั้งครรภ์และการคลอดจบลงอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในลักษณะที่พูดง่ายๆว่า “ลูกเกิดรอด....แม่ปลอดภัย”
แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างที่ต้องการหรอกครับ มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่เมื่อมีการตั้งครรภ์กลับมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นสารพัดโรค บางโรคก็รุนแรงไม่มาก ในขณะที่บางโรคก็รุนแรงมากจนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ลองมาดูข้อมูลของจริงเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนที่พบในคุณแม่ตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลศิริราชกันดูนะครับว่ามีโรคอะไรบ้าง ผมจะนำเสนอเฉพาะโรคที่พบบ่อยๆ และค่อนข้างเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องนะครับ
1. ท้องนอกมดลูก
โดยปกติแล้วคนเราเวลาตั้งครรภ์ก็จะตั้งครรภ์ในมดลูก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่ที่ท่อนำไข่ บางคนไปฝังในรังไข่เลยก็มี หรือบางคนก็ในช่องท้อง แต่กรณีที่พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ส่วนมากเด็กโตไปได้ระยะหนึ่งก็มักจะเสียชีวิต
สาเหตุ : ท้องนอกมดลูกมักพบบ่อยๆ ในคนที่มีประวัติเคยมีปีกมดลูกอักเสบ เคยทำแท้งบ่อยๆ การขูดมดลูกอาจจะมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้ท่อนำไข่หรือมดลูกไม่เรียบ ไข่เดินทางไปสู่มดลูกได้ช้า การฝังตัวเกิดได้ไม่ดี จึงเกิดฝังตัวนอกมดลูก

การรักษา : ส่วนมากต้องผ่าตัดเพื่อเอาการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติออก บางคนก็จำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ทิ้ง หรือตัดรังไข่ทิ้ง แล้วแต่กรณี

การป้องกัน : การป้องกันอันตรายจากภาวะนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อหากพบภาวะนี้สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ไม่เกิดอันตรายต่อคุณแม่ เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดท่อรังไข่ หรือรังไข่ฉีกขาดได้
2. ภาวะรกเกาะต่ำ
ปกติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก แต่บางรายรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูก จึงขวางทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไม่ได้ และถ้าเด็กตัวใหญ่ขึ้น รกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ ทำให้คุณแม่มีเลือดออก ถ้าเลือดออกมากๆ อาจทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้ แต่ก็มีแม่บางคนซึ่งมีรกเกาะต่ำได้โดยที่ไม่เกิดปัญหาอะไรตามมาเลยก็ได้ ในขณะที่บางคนมีเลือดออกผิดปกติ
สาเหตุ : ส่วนมากมักเจอในแม่ที่มีลูกมากๆ เคยคลอดลูกหลายๆ คน หรือว่าเคยขูดมดลูกมาก่อน
การรักษา : หมอจะรอจนเด็กโต มีอายุครรภ์ครบกำหนด ก็จะนัดมาผ่าตัดคลอด แต่ในบางรายที่ยังไม่ทันครบกำหนดแล้วมีเลือดออกเยอะ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษาชีวิตแม่เอาไว้
การป้องกัน : หากรู้ว่าตนเองมีภาวะเสี่ยง ควรจะรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าตรวจพบว่ามีรกเกาะต่ำ จะได้ระวังในเรื่องการปฏิบัติตัวไม่ให้มีการกระทบกระเทือน เนื่องจากการเกิดปัญหาเลือดออกจากรกเกาะต่ำ บางคนก็มีเลือดออกอย่างไม่มีสาเหตุ เกิดขึ้นมาเอง บางคนอาจจะเกิดจากการกระทบกระเทือนจากการทำงานหนัก นั่งรถ หรือมีเพศสัมพันธ์
3. แท้งบุตร

การแท้งบุตร คือการตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องยุติหรือสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร มักหมายถึง การตั้งครรภ์ที่ยุติก่อน 20-28 สัปดาห์ ซึ่งถ้ายุติในช่วงเวลานี้ส่วนมากเด็กจะไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะว่าตัวเล็กเกินไป
สาเหตุ : มีอยู่ 2 ประการคือ แท้งเอง กับตั้งใจทำแท้ง การแท้งเองอาจเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือว่าแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ เช่น อาจจะเกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก
การป้องกัน : การแท้งจากบางสาเหตุก็ป้องกันไม่ได้ เช่น การที่ไข่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติที่ไข่ต้องทำลายตัวเองไป แต่หากเป็นการแท้งที่เกิดในแม่ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ก่อนตั้งครรภ์ต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ถ้ามีโรคต้องรีบรักษาให้หาย หรือให้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ จึงปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์
4.ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก เมื่อเด็กคลอด รกถึงจะหลุดจากมดลูกคลอดตามออกมาด้วย แต่บางรายรกที่เกาะมดลูกอยู่หลุดออกมาก่อน โดยที่เด็กยังไม่คลอด เมื่อรกหลุดทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงเด็กที่เคยผ่านรกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้
สาเหตุ : ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกที่หน้าท้อง หกล้ม กระแทกกระเทือนจากการนั่งรถ หรืออุ้มลูกคนโต แต่บางรายก็ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน
การรักษา : ถ้าพบต้องเร่งทำคลอดทันที ซึ่งเด็กอาจจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่แล้วแต่ว่ามีอุบัติเหตุเมื่ออายุครรภ์เท่าใด
การป้องกัน : เมื่อมีการตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้กระทบกระเทือนที่บริเวณหน้าท้อง
5.ตกเลือดหลังคลอด

หลังจากการคลอดลูกมดลูกจะมีการบีบตัว ทำให้มีเลือดไหลออกมา การคลอดปกติจะทำให้แม่เสียเลือดประมาณ 200-300 ซีซี. แต่มีแม่บางคนเลือดออกมากกว่านั้นจนกระทั่งช็อคหรือเสียชีวิต คำว่าตกเลือดหลังคลอดทางการแพทย์หมายความว่า ภายหลังจากคลอดเด็กแล้ว รกคลอดไปแล้ว แม่มีการเสียเลือดมากกว่าครึ่งลิตรหรือมากกว่า 500 ซีซี.
สาเหตุ : ที่พบบ่อยๆ มีอยู่ 2-3 ประการคือ

สาเหตุที่ 1 มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดี เลือดจึงออกเยอะ ไหลไม่หยุด การที่มดลูกบีบรัดตัวไม่ดี ส่วนมากพบในคนที่อายุมากๆ คลอดลูกบ่อยๆ หรือเกิดจากการคลอดยาก มดลูกบีบรัดตัวอยู่นานไม่คลอดเสียที ซึ่งอาจเพราะลูกตัวโต หรือเด็กมีท่าผิดปกติ พอบีบไม่ออก บีบนานๆ มดลูกก็ล้าหดรัดตัวไม่ดี หรือบางคนอาจได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกบางอย่าง ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดีเช่นกัน
การรักษา : มียาหลายชนิดที่ช่วยให้มดลูกบีบรัดตัวได้ดี แต่ในบางรายให้ยาชนิดใดก็ไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้วิธีตัดมดลูกทิ้ง เพราะมิฉะนั้นแม่จะเสียเลือดมากจนเสียชีวิตได้ ซึ่งในกรณีอย่างนี้ก็พบได้ไม่บ่อยนัก

สาเหตุที่ 2 เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยอันดับที่สอง คือเกิดจากการที่มีการฉีกขาดของช่องทางคลอด ฝีเย็บอาจจะมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกมาก บางคนปากมดลูกมีการฉีกขาด บางคนมดลูกฉีกขาดหรือแตกจากการคลอด ซึ่งพวกนี้อาจจะเกิดจากการที่เด็กตัวใหญ่มาก การคลอดจึงมีการฉีกขาดเยอะ หรือว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้ทำคลอดตัดฝีเย็บไม่ดี แผลใหญ่มาก เป็นต้น
การรักษา : ตรวจดูว่ามีการฉีกขาดที่ไหน ก็ไปเย็บซ่อมแซม แต่ถ้ามดลูกมีการฉีกขาดหรือแตกมาก ก็อาจต้องตัดมดลูกทิ้ง
สาเหตุที่ 3 คือเด็กคลอดไปแล้ว แต่รกคลอดไม่หมด ยังค้างอยู่บางส่วน รกที่ค้างอยู่ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดได้
การรักษา : อาจต้องใช้มือเข้าไปล้วงรกที่ค้างอยู่ออกมา หรือขูดมดลูกเอาเศษรกที่ค้างอยู่ออก
การป้องกัน : แม่ทุกคนควรได้รับการดูแลที่ดีจากหมอ อย่าปล่อยให้มีการเจ็บครรภ์คลอดนานจนเกินไป ในประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากตกเลือดหลังคลอดประปราย แต่ในประเทศที่ด้อยพัฒนายังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตาย เนื่องจากอาจจะมีเลือดมารักษาไม่เพียงพอ หรือยารักษาการติดเชื้อไม่ดีพอ แต่ในบ้านเราโชคดีที่การรักษาทำได้ค่อนข้างดี โอกาสที่จะตายจากโรคนี้จึงต่ำมาก
6.โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

มี 2 กลุ่มคือ ผู้หญิงบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงได้ กลุ่มหลังเราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่าครรภ์เป็นพิษ

ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก เด็กมักตายในท้อง หรือถ้าแม่มีอาการนานๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ เด็กอาจตัวเล็ก แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติ ไม่มีความพิการใดๆ
สาเหตุ : ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบบ่อยๆ ในแม่บางกลุ่ม เช่น แม่ท้องที่อายุน้อยๆ หรืออายุมากๆ กลุ่มนี้มีปัญหาทั้งคู่ แต่ในคนวัยธรรมดา เช่น 20 กว่าๆ -30 ปี เจอน้อย และมักเจอในท้องแรก ท้องหลังไม่ค่อยเจอ เจอได้บ่อยในครรภ์แฝด คนเป็นเบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวที่แม่เคยโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน หรืออาจจะเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สร้างจากรก หรือจากตัวเด็กที่ทำให้ความดันขึ้น เพราะสังเกตว่าเมื่อมีการคลอดเสร็จแล้วส่วนใหญ่แม่ก็จะหายเป็นปกติ
การรักษา : ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่เจอได้น้อย ส่วนมากจะรักษาได้ หมอจะมียาป้องกันการชัก ยาลดความดัน สามารถประคับประคองให้เด็กโตพอ แล้วก็ผ่าตัดคลอด หรือให้ยาเร่งคลอดได้ ที่ควบคุมไม่ได้มีน้อย และสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ส่วนมากมักเกิดจากมาหาหมอตอนที่อาการเป็นมากแล้ว เช่น คนไข้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็น ไม่มาฝากครรภ์เลย มาฝากครรภ์ช้า หรือบางกรณีมาถึงมือหมอก็ชักมาเสียแล้ว
การป้องกัน : ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม รีบไปฝากครรภ์ หมอจะได้ตรวจเจอตั้งแต่แรก และให้การรักษาได้ทันท่วงที
7.โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

มีแม่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง กับแม่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน กลุ่มหลังนี้พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ เชื่อว่าเด็กหรือรกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้แม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจชักหรือช็อก อาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
สาเหตุ : ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่มักพบในคนที่ท้องแรก แม่อายุมากๆ แม่ที่อ้วนมากๆ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือว่าตัวแม่เองมีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งเราเรียกพวกนี้ว่ากลุ่มเสี่ยง
การรักษา : ถ้าตรวจพบต้องรีบรักษา ไม่อย่างนั้นจะมีอาการทั้งแม่ทั้งลูก คุณหมอจะแนะนำวิธีการดูแลตนเอง เช่น คุมอาหาร ถ้าคุมอาหารก็เอาไม่อยู่ อาจต้องฉีดอินซูลินช่วย ระหว่างที่ท้องก็ต้องคอยตรวจระดับน้ำตาลแม่อย่างสม่ำเสมอ ต้องคอยเช็คว่ามีปัญหาแทรกซ้อนอื่นไหม
การป้องกัน : ถ้าแม่เป็นกลุ่มเสี่ยงเวลาท้องต้องรีบไปฝากครรภ์ ถ้าตรวจเจอจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
8. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
สาเหตุ : เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้ไม่ดี มีการคั่งค้างนาน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
การรักษา : นำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ ว่าติดเชื้ออะไร แล้วก็ให้ยาฆ่าเชื้อ โดยยาที่ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์

การป้องกัน อย่ากลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้มีการขับปัสสาวะได้ดี ไม่มีการคั่งค้าง เป็นการชำระล้างทำความสะอาดระบบทางเดินปัสสาวะ
9.โรคโลหิตจาง
สาเหตุ : มี 2 ชนิด คือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย
การรักษา : โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แก้ไขได้ไม่ยาก โดยรับทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ เช่น ตับบด ผักใบเขียว หรือกินวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ลูกเป็นโรคนี้ และมีอาการมากก็อาจจะทำให้ลูกตายในท้อง หรือลูกบวมน้ำในท้องได้
การป้องกัน : ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่
10.ไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่น ใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่เข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อกเป็นอันตรายได้
การรักษา : หมอจะให้ยาที่ไปกดการทำงานของไทรอกซิน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปกติ การตั้งครรภ์ก็จะเป็นดำเนินไปตามปกติ โดยยาที่ให้ไม่มีผลกับเด็กในครรภ์
การป้องกัน : เนื่องจากโรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ เพื่อที่หมอจะได้ให้ยาคุมระดับอาการ ได้โดยไม่ทำให้การตั้งครรภ์มีปัญหา

เป็นอย่างไรบ้างคะ อ่านแล้วตกใจกลัวบ้างไหมกับตัวเลขของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคุณหมอวิทยา ได้อธิบายว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นตัวแทนของทั้งประเทศ เพราะโรงพยาบาลศิริราชเป็นศูนย์กลางใหญ่ ดังนั้นกรณียากๆ จึงอาจมารวมอยู่ที่นี่มาก และในเมืองไทยยังไม่มีการรวบรวมสถิติเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
คุณหมอวิทยา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจากว่า ความจริงแล้วปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้พบบ่อยๆ เพราะการตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติของคนเรา ส่วนมากแล้วการตั้งครรภ์และการคลอดจะแฮปปี้เอ็นดิ้งถึงร้อยละ 90 แต่จะมีแม่บางกลุ่มเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาบางอย่าง

“อยากจะแนะนำคุณแม่ว่า อย่าไปตกอกตกใจอะไรมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เสี่ยง หรือไม่เสี่ยงก็ตาม ทุกอย่างในขณะนี้เราสามารถให้การดูแลรักษาได้ เพียงแต่ว่าอยากจะให้ใส่ใจดูแลตัวเอง ก่อนที่จะตั้งครรภ์ตรวจเช็คร่างกาย ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ตั้งครรภ์ได้ ถ้ามีปัญหาก็ทำการรักษาให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาตั้งครรภ์ มีคนที่ต้องถูกห้ามตั้งครรภ์เลยน้อยมาก ขอเตือนว่าอย่าปล่อยให้มีการตั้งครรภ์โดยที่มารู้ว่ามีปัญหาเมื่อหลังตั้งครรภ์ไปแล้ว เพราะจะทำให้การดูแลรักษายากขึ้นไปอีก เนื่องจากวิธีการรักษาหลายอย่างสำหรับคนท้อง มีวิธีคิดต่างจากการรักษาในคนไม่ท้องอย่างสิ้นเชิง เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกในท้องอีกชีวิตหนึ่ง”

ดังนั้นคำตอบสุดท้าย ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ วางแผนก่อนตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จะทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาใหญ่ๆ ได้น้อยมากค่ะ

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฉันมีโรคประจำตัว ..ฉันท้อง

สำหรับคนที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี การท้องก็คงจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ไม่ใช่เรา เพราะเรามีโรคประจำตัวคือโรคไธรอยด์ เราขอเรียกว่าไธรอยด์แบบขาด(hypothyroid)คือร่างกายสร้างฮอร์โมนไธรอยด์น้อยกว่าคนปกติ ส่วนอีกแบบที่คนเป็นกันมากและเราเคยเป็นคือ ไธรอยด์แบบเกิน(hyperthyroid)คือร่างกายสร้างฮอร์โมนไธรอยด์มากกว่าคนปกติ
บางคนอาจสงสัย ทำไมเราเป็นทั้งสองแบบ ท้งขาดทั้งเกินเลยรึ เริ่มจากเราเป็น hyperthyroidก่อน และรับการักษาโดยการผ่าตัด บังเอิญหมอตัดออกเยอะไปหน่อย เลยกลายเป็นขาด ต้องกินฮอร์โมนเสริมตลอดชีวิต แถมหมอยังเฉือนต่อมพาราไธรอยด์(parathyroid)ทำให้เราเกิดอาการขาดแคลเซียม เป็นตะคริวบ่อยๆ
ซึ่งเราก็รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งหมอที่รักษาไธรอยด์ถามว่า "มีแฟนไหม บอกแฟนนะว่าไม่ควรมีลูกเพราะจะเสี่ยงปัญญาอ่อน ไม่สมประกอบ ฯลฯ" เรางี้ช็อค อึ้ง น้ำตาไหล ..แรงอ่ะหมอ ไม่ให้ความหวังกันเลบ (แต่วันนี้อยากพาลูกชายที่น่ารักฉลาดแสนรู้...ไปกราบหมอท่านั้นจริงๆเลย)
เพราะการให้ข้อมูลของหมอที่รักษาเราอยู่มันฝังใจ เมื่อเราท้องย่อมจะกังวลมากๆ แล้วเป็นคนที่ถ้ากังวลหรือเรื่องที่คิดยังไม่ลุกระจ่างแจ้ง จะพูดๆๆๆๆๆๆกับทุกคนที่พูดได้ เพื่อนหลายๆคนเห็นเรากังวลก็ไปสืบเรื่องนี้เพื่อมาคลายกังวลเรา เช่น คนข้างบ้านที่เป็นไธรอยด์เป็นพิษมีลูกตั้งสองคนเรียนเก่งด้วย นอกจากนี้มีพี่คนนึงเห็นรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดของเรา เขาเองเป็นอยู่ก็มาทักได้พูดคุยซึ่งแกเองก็มีลูกฉลาดแข็งแรงดี ฯลฯ เพราะฉะนั้นจากขอมูลที่ได้เจอของเราจึงแตกต่างจากข้อมูลของแพทย์(คือคนที่ลูกเค้าเป็นอย่างหมอให้ข้อมูลเค้าอาจไม่อยากโชว์ลูกเค้าก็ได้เนอะ)
ของเราที่กังวลคือเรากินฮอร์โมนเสิรม ก็กลัวว่าจะมีผลต่อลูกในท้อง ความกังวลนี้ทำให้เราถามถึงผลของยากับลูกทุกครั้งที่หมอนัดตรวจครรภ์ ซึ่งหมอก็ยิ้มแล้วพูดว่า"ไม่มีปัญหา ไม่ต้องกังวล" ทุกครั้งแล้วไม่อธิบายเพิ่ม เพราะฉะนั้นเราจึงไม่กระจ่าง ยิ่งพอลูกคลอด กินนมเราด้วยเราก็ยังกังวล จนได้ถามหมอที่เป็นหมอเด็กอีกครั้ง(หมอคนนี้ก็ถามแกหลายครั้งจนแกต้องนั่งอธิบาย) หมอบอกว่าฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ลูกกับแม่อาจเกี่ยวกันบ้าง แต่เมื่อเขาคลอดมาเขาจะปรับเป็นของเขาเอง อย่างนี้ค่อยสว่างขึ้นมาหน่อย เราคลายกังวลเมื่อลูกเลิกกินนมเรานั่นแล คราวหน้าจะเรื่องโรคไธรอยด์มาฝากค่ะ

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ท้องแล้วจ้า

ถ้าจะถามถึงอาการที่แสดงว่าท้องเนี่ย หลายๆคนต้องบอกว่าอ้วก อาเจียน แบบนางเอกหนังไทย นั่นแหละของชัวร์ (โถแม่คุณ แค่ประจำเดือนขาดก็น่าจะขนลุกได้แล้ว ไม่ต้องรอให้อ้วกหรอก) มามะ มาดูอาการกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง เอามาจากเวปDumex นะคะ
หากคุณสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ลองตรวจสอบสัญญาณเริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ
1ประจำเดือนขาด
นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ชัดเจนที่สุด หากปกติแล้วประจำเดือนของคุณมักมาตรงเวลาควรลองทดสอบ การตั้งครรภ์ได้แล้ว (ของเรามาไม่ปกติเป็นปกติเลยไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ.. งงก็อ่านใหม่)
แพ้ท้อง สัญญาณบ่งบอกว่าคุณตั้งครรภ์ (นี่ไง นางเอ๊กนางเอก)
อาการแพ้ท้อง มักแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่บางท่าน อาจมีอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกไม่สบาย โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ได้สัก 2-3 สัปดาห์ แต่บางท่านก็มีอาการเพียงแค่ไม่กี่วันหลังตั้งครรภ์ ถ้าโชคดี คุณอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้ และการแพ้ท้องอาจเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเช้าเสมอไป
ปัสสาวะบ่อยขึ้น (ไม่ได้สังเกตอาการนี้แฮะ)
ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่น่ายินดีว่าคุณกำลังเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วง 3เดือนแรกจะทำให้คุณปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
รู้สึกเหนื่อยง่าย
สัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่พบเห็นได้บ่อยอีกประการหนึ่งก็คือความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายดังนั้นหากคุณรู้สึกเหนื่อยง่ายโดยไม่มีสาเหตุลองตรวจสอบดูว่าเป็นเพราะคุณกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่า
รสชาติแปลกๆ ในปาก
คุณแม่บางท่านเล่าว่าครั้งแรกที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกขมเฝื่อนหรือมีรสชาติแปลกๆในปากขณะที่คุณแม่อีกหลายท่านก็รู้สึกเหม็นหรือทนไม่ได้กับอาหารหรือเครื่องดื่มที่เคยทานอยู่ทุกวันเช่นชาหรือกาแฟ
การเปลี่ยนแปลงของเต้านม (อันนี้ของเราเด่นชัดที่สุด ที่เราสังเกตเห็น.. อ้าว ไม่ค่อยก้มมองกันเหรอ)
ผิวหนังบริเวณรอบเต้านมหรือที่เรียกว่าลานนมจะมีสีคล้ำขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น
มีเลือดออกโดยไม่คาดคิดหรือเป็นตะคริว
ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเดินทางจากท่อนำไข่เพื่อไปฝังตัวที่ผนังมดลูกและรอการเติบโต กระบวนการนี้เรียกว่า การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว และมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียง เช่น การเป็นตะคริว และมีเลือดออกกะปริดกะปรอย โดยเลือดอาจมีสีแดงสด สีชมพู หรือสีน้ำตาล
ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยการทดสอบการตั้งครรภ์
แน่นอนว่าหนทางเดียวที่จะแน่ใจว่าคุณตั้งครรภ์แล้วก็คือการทดสอบการตั้งครรภ์โดยผลทดสอบนับจากวันแรกที่ประจำเดือนขาดไปหากเป็นผลบวกก็มั่นใจได้ว่าตั้งครรภ์แน่นอน
มีเรื่องขำๆคือเมื่อทบสอบด้วยตัวเองรู้ว่าท้องเราเลยไปหาหมอจะไปฝากท้อง หมอตรวจแล้วว่าท้องแต่ให้มาฝากในนัดครั้งต่อไป พอถึงวัน หมอก็จับultra sound หมอพูดว่า "ไม่เห็นมีเลย ไปตรวจที่ไหนมาเค้าว่าท้องน่ะ" แป่ว เหงื่อแตกซิกเลยเรา "ก็ที่นี่แหละค่ะ ตรวจกับหมอเลย" "อ้อ เจอแล้วอยู่นี่เอง" (ฮึม...หมอ) แล้วเราก็ได้เห็นเจ้าโดเรม่อน(ตั้งชื่อนี้เพราะมือเท้ายังเป็นปุ่มๆอยุ่เลย) เสียดายไม่ได้ให้หมอปริ้นท์ภาพไว้ให้

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

100คำพูดรุนแรง

ต่อจากบทที่แล้ว นี่คือสิ่งที่เราอ่านเจอแล้วโดนใจ (บทความจากหนังสือพิมพ์ จำชื่อไม่ได้ พ.ศ.2546 ยังไม่แต่งงานเลยค่ะ) ตัดเก็บไว้อ่านตอนมีลูก ข้อความยังทันสมัย สอนคนเป็นพ่อแม่ได้ทุกยุคทุกสมัย เอามาแบ่งปันค่ะ
100 คำพูดรุนแรง ก่อความรู้สึกไม่ดี จากผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างคุณค่าในกระบวนการเรียนรู้ชุมชน เพื่อจัดการปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน” โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับและคณะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ คำพูด การสื่อสารในสิ่งที่ไม่ได้คิดไว้ก่อนมีผลต่อผู้ฟังอย่างมากโดยเฉพาะวัยรุ่น ดังนั้นพ่อแม่ควรฟังลูกให้มาก บ่นให้น้อยลง อยู่กับเขาอย่างใจเย็น พูดคุยด้วยการดูจังหวะที่เหมาะสม
คำพูดรุนแรงที่จะสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับลูก ได้แก่ พูดคำหยาบ คำไม่สุภาพ การด่าทอ พูดเสียงดังโหวกเหวก พูดจาแดกดัน ไม่ยอมรับฟังเหตุผล จำแนกเป็นประเภท ดังนี้
1 ลักษณะคำพูดที่รุนแรง : รู้อย่างนี้เอาขี้เถ้ายัดปากตั้งแต่เด็ก(สมัยนี้มีแต่แก๊สอ่ะ), ไม่มีความเกรงใจ, ผลาญเงินเท่าไหร่ผลาญไปเลย, ไม่รู้ว่าลับหลังเรามันจะขนาดไหน, คะแนนห่วยแตก
2 พูดดุด่าด้วยอารมณ์ที่รุนแรง : โตเป็นความ หมาเลียตูดไม่ถึงยังทำอย่างนี้อีก, ไม่ได้เรื่อง, มึงมีปัญหากับกูรึเปล่า(พูดกะลูกรึนี่), โง่อวดฉลาด. ไอ้ลูกนอกคอก, เถียงคำไม่ตกฟาก, เลี้ยงเสียข้าวสุก, เกิดมาทำไม, ฉันยังเป็นแม่แกอยู่นะ
3.พูดตักเตือน ว่ากล่าว : หยุดพูดได้แล้ว, เป็นลูกผู้หญิงไม่เคยช่วยงานพ่อแม่เลย. อย่าเสียมารยาทสิ, คุยอะไรโทรศัพย์บอกให้วาง, ซุ่มซ่าม
4 พูดห้าม ออกคำสั่ง: อย่าเพิ่งมากวน, นี่ อย่าส่งเสียงดังได้ไหม, ไม่ต้องไป, เป็นเด็กเป็นเล็ก เรื่องผู้ใหญ่อย่ายุ่ง, อย่าทำอย่างนั้นสิ, อย่าออกไปไหนนะ, อย่าทำอย่างนี้อีก
5 คำพูดไม่สนับสนุน ไม่ให้กำลังใจ : มึงจะทำไปทำไม ถ้ารู้ว่าทำไม่สำเร็จ(โห แรง),แม่ผิดหวังกับลูกมา ต่อไปแม่จะไม่สนใจลูก, ความจนไม่สามารถทำให้เรามีความรู้ได้
6 คำพูดขับไล่ไสส่ง : ไปเอาเงินกับเพื่อนแกโน่น, ตัดลูกตัดแม่กันไปเลย
7 คำพูดประณาม เหยียดหยาม : สอนอะไรไม่จำ, พูดจนปากเปียกปากแฉะ, ฉันจะดูน้ำหน้าแกว่าจะไปรอดไหม
8 พูดประชดประชัน: ให้แต่เพื่อนนะ, เอาเพื่อนเป็นพ่อแม่เลยสิ
9 ลักษณะคำพูดอื่นๆ : อยากอยู่คนเดียว, พอเราแก่ลูกคงไม่เลี้ยงเราหรอก
คำพูดเหล่านี้จะส่งผลต่อจิตใจ กระทบความรู้สึกของผู้ฟัง โดยเฉพาะคนเป็นลูก พ่อแม่ควรระวังอย่างยิ่ง
(เคยโดนไปบ้างไหม ถ้าเคยจะรู้ว่ามันเจ็บ เพราะฉะนั้นต้องไม่ส่งต่อให้ลูกเรานะ)
ส่วนพฤติกรรมที่พ่อแม่กระทำแล้วเด็กเกิดความรู้สึกดี ได้แก่ การโอบไหล่ กอดจูบ ให้คำปรึกษา พาไปเที่ยว รองลงมาได้แก่ การให้ของขวัญ กินข้าวนอกบ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบอย่างสม่ำเสมอ แสดงความดีใจเมื่อเด็กประสบความสำเร็จ อบรมสั่งสอน มีความรักความอบอุ่นในครอบครัว
(เคยได้รับบ้างไหม ถ้าเคยจะรู้ว่ามันอิ่มเอมจนถึงทุกวันนี้..)