วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

5 กิจกรรมง่าย ๆ กระตุ้นพลังความคิดลูก

ช่วงนี้ได้บทความดีๆจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์(16 สิงหาคม 2554)มาฝากค่ะ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมัยนี้มีข้อมูลสำเร็จรูปเต็มไปหมด รวมทั้งอธิบายเหตุผลมาให้เรียบร้อยว่าควรเชื่อ และควรทำตามเพราะอะไร ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิด แต่สำคัญผิดคิดว่า ตัวเองใช้ความคิด แท้ที่จริงแล้วก็แค่เชื่อข้อมูลเท่านั้น

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระตุ้นลูกให้รู้จักคิดตั้งแต่เด็ก ซึ่งความคิดเป็นพลังสร้างสรรค์ที่ดี ทั้งต่อเด็ก และบุคคลรอบข้าง แต่ก่อนที่เด็กจะเข้าใจเรื่องของทักษะความคิดที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยแบบอย่าง และการสะสมประสบการณ์จากพ่อแม่ ซึ่งวิธีกระตุ้นความคิดให้กับเด็ก ๆ สามารถทำได้ด้วยกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

โดย 5 กิจกรรมง่าย ๆ ที่ทีมงาน Life & Family ได้หยิบยกมาฝากกันในวันนี้ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยครับ

1. ชักจูงกันพูดคุยเล่าจินตนาการ

ทุกเรื่องที่ลูกพูดเป็นประจำกับคุณ ถึงแม้ว่าสิ่งที่ลูกคิด และสิ่งที่พ่อแม่ได้ยินอาจจะดูเหนือธรรมชาติ ต่างไปจากความเป็นจริง แต่ถ้าลองคิดตามแล้วฟังเสียงเล็ก ๆ ของลูกก็จะสัมผัสได้ว่า เขามีความคิดเช่นไร มีความสนใจต่อสิ่งใด และโลกในจินตนาการที่แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น จะเป็นคำตอบนำพาให้ครอบครัวทราบว่าจะสามารถต่อยอดความคิดให้กับลูกได้อย่างไร หรือพัฒนาความสามารถต่อไปได้เช่นใด

How to

สังเกตว่าลูกสนใจสิ่งใดเป็นพิเศษ เพื่อคอยสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ สัมผัสจากของจริงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิ ลูกชอบการปั้น การสร้างหุ่นยนต์ ก็อาจพาลูกไปดูการแข่งขันหุ่นยนต์ หรือเข้าชมแหล่งสะสมหุ่นยนต์ในสถานที่ต่าง ๆ

2. ชักจูงกันอ่านหนังสือ

วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การอ่านนิทานที่ลูกชอบ และตั้งคำถามเพื่อให้ลูกได้ฝึกความคิด ในขณะที่พ่อแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนโลกในจินตนาการของเด็กอย่างถูกต้อง คือ ตอบในสิ่งที่ลูกชอบ และตอบด้วยความจริง อีกทั้งเสริมสร้างความคิดในมุมบวกให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิด รู้จักแสดงความคิดเห็น

How to

พยายามตั้งคำถามบ่อย ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดของตัวเอง และในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่สามารถสอดแทรกความคิด ร่วมกับอธิบายสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ลูกก็ได้เรียนรู้ พร้อมรับฟังเหตุผลของผู้อื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน



3. ชักชวนให้ทำงานบ้าน

การให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำความสะอาดบ้าน อาทิ กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เมื่อลูกทำเสร็จก็แสดงความชื่นชม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเอง และหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มความรับผิดชอบให้มากขึ้นตามความเหมาะสม

How to

พยายามให้ลูกคิด และทำกิจกรรมแต่ละอย่างให้สำเร็จด้วยตัวเอง เมื่อลูกทำได้ก็ควรชื่นชม เพื่อให้รู้สึกภาคภูมิใจ และอยากทำสิ่งอื่น ๆ ด้วยตัวเองต่อไป

4. คิดคำถามให้ลูกตอบ เพื่อพิจารณาไอคิว/อีคิว

ระหว่างที่ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดคำถามง่าย ๆ ของสถานการณ์บางอย่างเพื่อสำรวจความคิดของลูก เช่น กรณีลูกถูกรังแก มีเพื่อนแย่งของเล่นจะทำเช่นไร โดยสิ่งที่คุณตั้งคำถามนั้นก็เพื่อจะได้ทราบว่า ลูกจะสามารถจัดการกับปัญหาได้หรือไม่ และมีวิธีคิดอย่างไร

How to

ควรให้เด็กฝึกคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ทราบว่า ชีวิตคนเราต้องมีอุปสรรค ปัญหา และความผิดหวัง แต่สิ่งสำคัญ คือ การยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม

5. ชวนดูข่าวหรือสารคดีที่เหมาะสม

นำเรื่องราวที่ดูร่วมกันมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ถือโอกาสนี้ สอดแทรกทัศนคติที่ดี หรือวิธีคิดที่เป็นบวกบนหลักเหตุ และผลให้กับลูก เมื่อฝึกบ่อย ๆ วิธีคิดเหล่านี้ก็จะถูกหล่อหลอมให้กับเด็กไปโดยปริยาย

How to

สอนให้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และให้เด็กทราบว่าในเรื่องเดียวกัน ความคิดเห็นของแต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ แต่ความคิดนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง มีเหตุผลและความดีงามไปพร้อม ๆ ด้วยกันนะครับ

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ หรือผู้อ่านท่านใดมีกิจกรรมนอกเหนือจาก 5 กิจกรรมข้างต้น เข้ามาบอกเล่ากันได้ ทีมงานยินดีน้อมรับด้วยความขอบคุณมากครับ

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

เตือนพ่อแม่ระวัง "ยาร้าย" ทำเด็กไม่โต

อ่านเจอใน ASTVผู้จัดการออนไลน์(7 มีนาคม 2555)ค่ะ น่าสนใจดีนะ



เป็นอีกหนึ่งข่าวที่พ่อแม่ทุกท่านควรพิจารณากันให้ดี ๆ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ได้มอบหมายศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติให้ความรู้ประชาชนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลือกบริโภคอาหารและยาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้มีการออกมาเตือนพ่อแม่อย่าหลงเชื่อโฆษณา และระดมยาให้เด็กเกินสมควร เพราะอาจทำให้เด็กไม่โต และป่วยด้วยยาในที่สุด

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า เด็กยุคใหม่ถูกจับให้กินยาประจำหลายขนานราวกับผู้ใหญ่ ถ้ามีการเก็บสถิติคงติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องการกินยากันเลยทีเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วการให้ยาในปริมาณยิ่งมากยิ่งไปกดภูมิคุ้มกันเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้ที่จะต้องกินยาหลังอาหารทุกมื้อ ทำให้โรคที่เป็นดีขึ้นในตอนแรก แต่หลังจากนั้นจะพบกับสภาพที่หนักกว่าเดิม

ดังนั้น ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติท่านนี้ได้เตือนพ่อแม่ระวัง "ยาร้าย" ดังต่อไปนี้

1. ยาภูมิแพ้ ยาฆ่าเชื้อ และยาแก้แพ้ ทำให้เด็กเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องได้ ยิ่งหลายขนานยิ่งมีโอกาสตีกันกับยาชนิดอื่น ความน่ากลัวของยาชนิดนี้อยู่ที่การต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ้าไม่จำเป็นเมื่อแพ้หายแล้วควรหยุดใช้ ในเด็กที่ได้ยาฆ่าเชื้อนาน ๆ ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอจนป่วยง่าย และยาฆ่าเชื้อบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นไข้ได้เองถ้าใช้ติดต่อกันนาน (Drug fever)

2. ยาสเตียรอยด์ ตัวร้ายสุดมีทั้งแบบ พ่นจมูก พ่นคอ ยากิน และยาทา สเตียรอยด์ที่ว่าเป็นยายอดนิยมที่ถูกจ่ายให้คนไข้ภูมิแพ้มาก โดยฤทธิ์ของมันจะไปปิดกระดูกให้หยุดโต เด็กจะตัวแกร็น และอ้วนฉุ ที่สำคัญคือจะไปทำให้กระดูกผุ ปิดกั้นความสูงของเด็กจนเสียโอกาสไปในเด็กวัยกำลังโต

3. ยาขยายหลอดลม ยากลุ่มนี้ หากเด็กได้รับมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย คล้ายไฮเปอร์ลามไปถึงใจสั่น ทรมานถึงขนาดเรียนไม่รู้เรื่อง หงุดหงิดง่าย และนอนไม่หลับทั้งคืนได้

4. ยาลดน้ำมูกแบบเมา ๆ ยาน้ำลดน้ำมูกที่นิยมกันมีการใส่แอลกอฮอล์เข้าไปมาก ทำให้รสอร่อย เช่น รสองุ่น รสส้ม จิบเข้าไปแล้ว เด็กจะไม่ตื่นมาโยเย เพราะเมาจากยาที่ผสมแอลกอฮอล์นั่นเอง

5. ยาแก้ปวด อย่าเห็นพาราเซตตามอลเป็นเรื่องเล่น ๆ ดูเป็นยาปลอดภัยแต่อันตรายเหมือนกัน เพราะถ้าใช้ผิดขนาด เช่น เอาของผู้ใหญ่มาแบ่งครึ่งให้เด็กก็อาจทำอันตรายต่อตับของเด็กได้ ทางที่ดี ควรเลือกยาที่เฉพาะกับเด็กโดยตรงจะดีกว่า


6. ยาลดไข้ ไม่ธรรมดาเหมือนกันโดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟ่นที่เด็กป่วยไข้เลือดออกกินแล้วอาจชักได้ ในเด็กที่มีไข้ยังไม่ทราบสาเหตุไม่ควรให้ยาลดไข้กลุ่ม "เร็วสั่งได้" นี้เพราะมีสิทธิ์ที่จะช็อคได้สูง

7. ยาธาตุ เด็กน้อยปวดท้องบ่อยมักถูกป้อนด้วยยาธาตุ เอามหาหิงคุ์ทาพุงจนกลิ่นตลบ ในเด็กโรคกระเพาะถ้าได้ยาธาตุน้ำขาวพวกอะลั่มมิลค์บ่อยเกินไปยาจะไปยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุ วิตามิน รวมไปถึงยาอื่น ๆ และการได้ธาตุอลูมิเนียมจากยาน้ำขาวพวกนี้มากไปก็อาจมีผลต่อสมองได้

8. ยาระบาย ไม่ว่าแบบน้ำ เม็ด หรือยาสวนก้น ต้องดูสุขภาพเด็กให้ดี ถ้ามีอาการเพลีย หรือซึมจากการขาดน้ำอยู่แล้ว ยาถ่ายที่ทำให้ท้องเสียอันตรายถึงช็อคได้ ส่วนในเด็กท้องผูกต้องดูแผลปากทวาร (Anal fissure) ให้ดีก่อนสวนด้วย

9. ยาช่วยนอน ถ้าเด็กนอนไม่หลับควรหาสาเหตุให้พบเสียก่อน รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเด็ก เช่น ยาแก้โรคสมาธิสั้น โดยการรักษาที่ดีต้องใช้พฤติกรรมบำบัด และกิจกรรมบำบัดควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด

10. วิตามินสังเคราะห์ ในเด็กที่กินอาหารไม่ครบ วิตามินเสริมเป็นตัวช่วยที่ดี แต่ต้องระวังวิตามินประเภทสังเคราะห์อย่างกรดวิตามินเอ วิตามินอี และน้ำมันตับปลาที่มากเกินไปเพราะอันตรายต่อตับเด็กได้

"รู้แบบนี้แล้วก็ใช่ว่าจะให้ทิ้งยาดังกล่าวในทันที เนื่องจากยาพวกนี้สะสมอยู่ในตัวเด็กนานนับเดือนนับปี ถ้าหยุดทันที เด็กอาจมีอาการทรุดลงได้ อย่างยาสเตียรอยด์ที่เด็กภูมิแพ้ได้นาน ๆ การหยุดแบบหักดิบจะทำให้ต่อมหมวกไตไม่ทันตั้งตัว และทำงานไม่ทัน อาจกลายเป็นโรคที่ป่วยด้วยต่อมหมวกไตได้" ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติทิ้งท้าย