วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ทำยังไงเมื่อ "ลูกอยากได้..."อีกแล้ว

กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้กันอยู่ไหมคะ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ถ้าลูกอยากได้ ไม่แพงเกินไปก็ซื้อให้ ด้วยความสงสารลูก ฯลฯเหตุผล ผลคือ ของเล่นสองตระกร้า..เริ่มคิดว่ามันเยอะไปละ ล่าสุด อยากได้รถแบตเตอรี่คันละสี่พัน(ขาดบาทเดียว) แม่เจ้า..มันจะมากไปแล้วลูกเอ๋ย ของเล่นลูกเศรษฐีนะนั่นน่ะ ลูกเอ๊ย คันละสิบยี่สิบแม่จะควักให้ทันทีเลย ยิ่งมาอ่านเจอบทความนี้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ชอบมาก บังเอิญเหลือเกินคุณแม่ที่น่ารักในเวปเด็กสองภาษาเอามาลงไว้ เลยเอามาเผยแพร่อีกที ลองอ่านดูค่ะ

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่กล้าขัดใจลูกและเลือกที่จะโอ๋ลูกตามใจลูก เพราะกลัวลูกไม่รัก แต่เชื่อไหมว่า การเลี้ยงลูกให้เป็นคุณหนูโดยตามใจทุกอย่าง อยากได้อะไรเป็นต้องเนรมิตให้ ถือเป็นการทำร้ายลูกอย่างทารุณที่สุด.... ด้วยน้ำมือของพ่อแม่เอง!!!
ถ้าคุณรักลูกจริงๆ และอยากเห็นพวกเขาเติบโตมีความสุข รู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และไม่เป็นทาสของเงินลองเปิดใจรับกฎเหล็ก 7 ประการของ "ยีน ชาทสกี" นักเขียนชื่อดังของอเมริกา และบรรณาธิการสายการเงินประจำรายการ NBC's Today Show ที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิตเพื่อค้นหาคำตอบว่า ทำไมเด็กยุคใหม่ถึงไร้วินัยทางการเงินและสะกดคำว่า พอเพียงไม่เป็น !!!!!
กฎข้อที่ 1 สอนลูกให้เลือกสิ่งดีที่สุด และเลือกให้เป็น
การตัดสินใจเลือกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องทำในชีวิตนี้ คุณต้องเลือกระหว่างอะไรกับอะไรสักอย่างเสมอ การสอนให้ลูกรู้จักตัดสินใจเลือกอย่างถูกต้อง จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังแบเบาะจนถึง 2 ขวบ เพื่อสอนให้รู้ว่า ไม่ใช่ว่าอยากได้อะไรแล้วต้องได้ตามใจไปซะทุกอย่าง เทคนิคสร้างทักษะการเลือกที่ถูกต้องให้ลูกควรเริ่มจากการฝึกลูกให้เลือกระหว่างของ2อย่าง จากนั้นค่อยเพิ่มจำนวนเป็น 3-4 อย่าง ถ้าลูกเลือกแล้ว และรบเร้าอยากเปลี่ยนใจ พ่อแม่ก็ห้ามใจอ่อนเด็ดขาด เพราะจะสร้างนิสัยไม่ดีให้กับลูก ต้องปลูกฝังให้ลูกรู้จักการเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง ที่สำคัญต้องแฮปปี้กับการตัดสินใจ ไม่ใช่ว่า พอได้ของเล่นชิ้นหนึ่งมาแล้ว ก็ลงดิ้นกับพื้นร่ำร้องอยากจะได้ของเล่นชิ้นใหม่ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นคนบ้าช๊อปปิ้ง ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยไม่รู้จักคุณค่าของเงิน
กฎข้อที่ 2 กติกาต้องเป็นกติกา เข้มงวดอย่างมีเหตุผล และเลิกตามใจลูก
ผลสำรวจของ "แดน คายด์ลอน" ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บ่งชื้ว่า เด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการเลื้ยงดูเข้มงวดของพ่อแม่ และครอบครัวที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด มีแนวโน้มที่จะไม่ออกนอกลู่นอกทางเมื่อเทียบกับลูกเศรษฐีที่ถูกตามใจตั้งแต่เกิด ลองใช้เทคนิคหักเงินทุกครั้งที่ลูกไม่ทำตามกติกา หรือลงโทษลูกโดยห้ามดูทีวี
กฎข้อที่ 3 กำหนดเงินค่าขนมตายตัว เพื่อฝึกให้ลูกบริหารเงินด้วยตัวเอง
สำหรับพ่อแม่ที่ไม่กล้าปฏิเสธลูก การกำหนดเงินค่าขนมตายตัวอาจเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อลูกรบเร้าอยากได้โน่นได้นี่ พ่อแม่จำนวนมากก็มักใจอ่อนซื้อให้ทุกที ลองเริ่มต้นด้วยการกำหนดเงินค่าขนมเป็นรายอาทิตย์และค่อยเพิ่มภาระเป็นรายเดือน วิธีนี้จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของเงินและรู้จักการวางแผนการใช้เงินของตัวเอง เด็กหลายคนยอมอดขนมเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อของเล่นกระนั้น พ่อแม่ไม่ควรนำเรื่องค่าขนมมาโยงกับการบังคับให้ลูกช่วยทำงานบ้าน
กฎข้อที่ 4 สอนลูกให้รู้จักการรอคอย
ปลูกฝักให้ลูกรู้ว่าได้อะไรมายาก ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าการได้อะไรมาง่ายๆ พ่อแม่ที่ดีควรส่งเสริมลูกให้เรียนรู้ที่จะเก็บเงินเพื่อซื้อของที่ต้องการ เช่น ถ้าลูกอยากซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คราคาแพง ในขณะที่มีค่าขนมอาทิตย์ละไม่กี่ร้อยบาท สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยได้ก็คือ ทุกครั้งที่ลูกหลยอดกระปุกออมสิน พ่อแม่ควรสมทบเงินในอัตราที่เท่ากันให้ลูก นอกจากการรวบรวมเงินออมทั้งหมดที่สะสมมาได้จากการช่วยงานพิเศษภายในบ้าน เมื่อทำแบบนี้แล้ว เด็กย่อมจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง
กฎข้อที่ 5 สนับสนุนให้ลูกทำงานพิเศษ
ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดในการสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ พ่อแม่อาจเริ่มต้อนจากการจ้างลูกทำงานพิเศษภายในบ้าน เช่น รับจ๊อบล้างรถให้คุณพ่อ หรืออาสาเลี้ยงน้องแทนคุณแม่ เมื่อลูกได้ลิ้มลองรสชาติของการหาเงินได้เอง และอยากได้ข้าวของที่มีราคาแพงเกินกว่ารายได้พิเศษในบ้าน พวกเข้าก็จะออกไปหางานพิเศษทำนอกบ้าน อย่าโวยวายเด็ดขาด ถ้าจู่ๆลูกจะขอไปทำงานแมคโดนัลด์
กฎข้อที่ 6 สอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงิน
เด็กๆ รู้จักใช้เงินเป็น ก็ตั้งแต่พวกเขานับเงินเป็นแล้ว แต่เรื่องที่ยากยิ่งกว่าคือ ทำอย่างไรถึงจะสอนให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงิน มีทิปง่ายๆ สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ เมื่อไหร่ที่ลูกร่ำร้องอยากได้ของเล่น ลองทดสอบลูกว่าของเล่นที่อยากได้สำคัญระดับไหนตั้งแต่ 1-5 โดยทั่วไปแล้ว เด็กทุกคนมักตอบว่า สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 5 จากนั้นทิ้งเวลาไว้สักอาทิตย์หนึ่ง แล้วค่อยกลับมาถามลูกใหม่ การทำอย่างนี้สม่ำเสมอจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาศักยภาพในการตัดสินใจด้วยตัวเอง และรู้ว่าควรใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่า
กฎข้อที่ 7 เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก ... จงอย่าเหนียวหนี้
พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก โดยเฉพาะเรื่องวินัยการเงิน เริ่มต้นง่ายๆ จากการจ่ายค่าขนมให้ลูกตรงเวลา อย่าเพาะนิสัยเหนียวหนี้ให้พวกเขา มิฉะนั้น พวกเขาก็จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เหนียวหนี้ ไม่ยอมชำระค่าบัตรเครดิตตรงเวลา เมื่อพูดคำไหนก็ต้องคำนั้น พ่อแม่ต้องเข้มงวดกับกติกาที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ตัวเองยังผิดคำพูดบ่อยๆ แล้วนับประสาอะไรจะบังคับลูกได้


ข้อสุดท้ายนั้นคือสิ่งที่ทำเสมอคือ ถ้ารับปากว่าได้ก็คือได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ เรื่องรถที่"ลูกอยากได้"นั้น เราบอกไปแล้วว่าไม่ ถ้าอยากได้ต้องเก็บขวดขายเก็บตังค์ไปซื้อเอง เพราะมันแพง แม่ไม่มีเงิน แต่ปู่กะย่าให้ท้าย สัญญาว่าว่าจะซื้อให้ซะนี่ แต่ข้อแม้ยากหน่อย ให้บอกหวยให้ปู่กะย่าถูกซะก่อน .. 55คร่ำครวญไปเถอะลูก

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

คุณธรรมจริยธรรม สอนได้ในเด็กเล็ก

ที่กล้าเอ่ยหัวข้อยิ่งใหญ่เช่นนี้เพราะทำเองกะมือมาแล้วนั่นเอง พ่อแม่สอนได้ค่ะ ไม่ต้องรอให้ลูกเข้าโรงเรียนแล้วค่อยสอน ช้าไป.. เท้าความสักเล็กน้อย เป็นคนที่จะทำอะไรย่อมมีเหตุผล(ยกเว้นเวลาโกรธ 55) สาเหตุที่ตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสอนเรื่องเกี่ยวคุณธรรมจริยธรรมแบบเบสิคในชีวิตประจำวัน เช่น การขอบคุณ ขอโทษ ไม่ทิ้งขยะ รู้จักเข้าคิว ไม่พูดคำหยาบ ฯลฯ เพราะเคยเห็นบ่อยๆและโดนกับตัวเองคือ ผู้ใหญ่ชอบแกล้งยั่วโมโหให้เด็กด่าหยาบคาย เลียนแบบคำพูดที่ไม่ควรพูด แล้วก็เฮฮา สนุกสนานกันไป ของเราจะโดนประเภทแรก ก็ไม่รู้ว่าอาการขี้โมโหนี่เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า จำได้ไม่แม่น แต่ที่รู้ว่าตัวเองด่าเก่งเพราะพอกลับไปที่ที่เคยอยู่ตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่หลายๆคนจะชอบมาแซวว่าเดี๋ยวนี้ไม่ด่าแล้วเหรอ ...โอ แม่เจ้า นี่ภาพพจน์เราในวัยเด็กช่างไม่น่าประทับใจเสียเลย... แล้วใครล่ะทำ จะโทษเด็กหญิงตัวน้อยๆคนนี้เหรอ หลังจากประมวลด้วยสติปัญญาแล้วว่าแก้ไขอดีตไม่ได้ จำเป็นที่เราต้องทำปัจจุบันและอนาคตให้ดี กรรมดีจึงตกมายังลูกสุดที่รัก
# ไม่เคยเอ่ยคำพูดหยาบคายให้เข้าหูลูก ไม่ด่า(คนอื่นรอบตัวปิดปากเขาไม่ได้ก็ถือว่าเขาไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกเรามาก น่าจะไม่ติดต่อเท่าไหร่..พูดเหมือนคำหยาบเป็นเชื้อร้าย ..ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงนะ)
# จำไม่แม่นว่าลูกอายุเท่าไหร่ที่เราจับมือให้พนมทุกครั้งที่เจอผู้ใหญ่ ไม่ว่าผู้ใหญ่คนนั้นจะเป็นคนอาชีพอะไร ถ้าอายุมากกว่าลูก แม่จับให้ไหว้ทั้งนั้น(จนตอนนี้สามขวบกว่า ทำเองได้แล้ว)
# เวลาผู้ใหญ่ให้ของต้องพูด “ขอบคุณครับ” ตอนลูกพูดยังไม่ได้แม่จับมือลูกพนมแล้วพูดแทนเอง ..ทุกครั้ง
# คำว่า “ขอโทษ” เริ่มจากตัวแม่ที่บางทีทำให้ลูกเจ็บเล็กๆน้อยๆ เดินชนลูก ฯลฯ แม่จะขอโทษลูก จนตอนนี้ขนาดลูกหกล้มเองยัง “ขอโทษแม่” (สงสัยเข้าใจว่าถ้าทำให้ตัวเองเจ็บต้องขอโทษแม่กระมัง )
# ไปซื้อของต้องรอคิว ...เรื่องการรอคอยก็ได้มาจากหนังสือที่เขาแนะนำว่าควรจะฝึกให้เด็กรอตั้งแต่ยังเล็ก เช่นเด็กร้องปุ๊บอย่าไปถึงปั๊บ แต่ให้ส่งเสียงไปก่อน เช่น “แม่อยู่นี่ หิวนมเหรอลูก รอเดี๋ยวนะ แม่ชงอยู่” ให้แม่พล่ามเอ๊ยพูดไปเรื่อย ถ่วงเวลาพอให้ลูกรู้จักรอ แต่ต้องรักษาคำพูด เพราะถ้าเดี๋ยวของแม่นานเกินไปอาจเกิดอาการโมโหได้
# ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดค่ะ เป็นคนที่..เวลาเห็นพ่อแม่ซื้อขนมให้เด็กแล้วเด็กทิ้งถุงต่อหน้าต่อตาแล้วพ่อแม่ยังเฉย อันนี้เห็นแล้วปวดใจ ลูกเราถ้าทิ้งจะบอกให้เก็บทันที หรืออย่างในรถจะใส่ถุงไว้ พอออกจากรถก็เอาไปทิ้งถังขยะ ลุกชอบหิ้วขยะไปทิ้งลงถังด้วย
# คำฮิตติดปากล่าสุดของลูกชาย คือ “ไม่เป็นไรแม่” อันเนื่องมากจาก เวลาลูกเจ็บ แม่จะเข้าไปปลอบว่า “ไม่เป็นไรลูก แม่อยู่นี่แล้ว” ..การที่มีลูกชายคอยปลอบว่าไม่เป็นไรกับหลายๆเหตุการณ์ ก็ทำให้ลดความตึงเครียดได้มากทีเดียว ตัวเล็กแค่นี้ยังรู้จักสอนพ่อแม่ให้ปล่อยวางเนอะ ..
ทั้งหมดทั้งมวลในการเลี้ยงลูก เราเชื่อคำโบราณ(ธรรมรักษา)ที่ว่า การเลี้ยงลูกที่ดี ต้องมี 4 ขั้น คือ “แม่น้ำ ลูกยอ กอไผ่ ใส่เตา”
แม่น้ำ คือ เอาน้ำเย็นเข้าปลอบ พูดจาภาษาดอกไม้ (ทำได้ค่ะ)
ลูกยอ คือ ใช้วิธียกย่องชมเชย ให้กำลังใจ (ลูกชายชอบมากลูกยอเนี่ย ได้กินประจำ อิอิ)
กอไผ่ คือ ใช้ไม้เรียวหวดก้นสอน ไม่เชื่อฟังต้องมีการตีบ้าง ( ใช้ แต่มาเสียใจทีหลังทุกที ..จริงๆก็มีวิธีลงโทษแบบอื่นนะ)
ใส่เตา คือ ขั้นสุดท้ายสอนยังไงก็ไม่ได้ก็ตัดขาดไปเลย(อันนี้ก็เตรียมใจไว้ คิดเสียว่าเราปลูกฝังดีขนาดนี้ถ้าลูกเติบโตไปเป็นคนไม่ดีก็เป็นกรรมของเขาเอง เราทำดีที่สุดแล้ว)

คุณรู้สึกอย่างไร ถ้ามีเพื่อนบ้านชมลูกเราว่า "พ่อแม่เค้าสอนมาดี" สำหรับตัวเราปลาบปลื้มมากค่ะ

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

เขียนเรื่อง"ความโกรธ" ในวันที่ไม่โกรธ

จากหนังสือที่ได้มาเพราะประทับใจชื่อ แต่ยังไม่เคยเปิดอ่าน “สุดยอดคำคมคารมปราชญ์ทุกศาสนาที่ทรงคุณค่านิรันดร์กาล ” ของ สำลี รักสุทธี เมื่อได้เปิดอ่านจึงได้สะอึกกับคำคมบทแรกของศาสนาพุทธที่เรานับถือนี้แหละ
“อย่าปล่อยให้ความโกรธมีอำนาจเหนือเรา เราควบคุมตนเองได้ คนที่สามารถเอาชนะความโกรธได้ย่อมเป็นผู้มีอำนาจเหนือผู้ที่ยอมให้ความโกรธครอบงำ คนหนึ่งนายเหนืออารมณ์ของตน ส่วนอีกคนเป็นทาสอารมณ์ของตนความเกลียดชังเป็นตัวทำลายมนุษยชาติ จึงควรกำจัดความโกรธให้หมดไป”
..ทำไมจะไม่สะอึกล่ะ ก็เรารู้ตัวเองอยู่ว่ามีพื้นสันดานเป็นคนขี้โกรธ โมโหง่าย รู้เรื่องนี้ดีแต่จับความโกรธที่เกิดไม่ทันสักทีก็รู้สึกละอาย เลยลองเปิดอ่านของศาสนาอื่นดู จะมีคำสอนใดขึ้นต้นหนอ..
• ศาสนาคริสต์ “ พระเจ้าสอนให้เราไม่โกรธ จงอย่าโกรธง่ายและจงพร้อมที่จะให้อภัย คนที่เกลียดพี่น้องของตนเปรียบได้กับฆาตกรสัญลักษณ์แห่งความเป็นคริสต์ ”
• ศาสนาอิสลาม “ อาบู ฮูไรรา ได้แจ้งพระวจนะของพระเจ้าว่า “นักมวยปล้ำชั้นดีไม่ถือว่าแข็งแรง คนที่แข็งแรงที่สุดคือคนที่ควบคุมตนเองได้ในยามโกรธ”
...นี่ 3 ศาสนาใหญ่ๆที่เรารู้จักเองนะเนี่ย ยังแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่แย่ที่สุดคือความ “โกรธ” ยังมีอีกหลายศาสนาที่คุ้นชื่อบ้างไม่คุ้นบ้าง ดังนี้
• ศาสนาโซโรอัสเตอร์ “จงอย่าปล่อยตนไปกับอารมณ์ร้ายของความโกรธ ความริษยา ความกลัว และความเศร้า จงมองโลกในแง่ดีเสมอ”
• ศาสนาขงจื้อ “จงพาตนหลีกเลี่ยงที่จะเกลียดหรือโกรธผู้อื่นมธุรสวาจาหือการไม่เรียกร้องคือทางหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นเกิดความโกรธ”
• ศาสนาเชน “ความโกรธมิใช่วิสัยของบัณฑิตหรือศาสนิกชน จงทนความบีบคั้นโดยไม่โกรธ คนโง่และคนบาปเท่านั้นที่จะปล่อยตัวให้โกรธ” ..อ้าว ตรู
• ศาสนายูดาย “ความรักเท่านั้นที่จะได้รับการสรรเสริญไม่ใช่ความโกรธ ความโกรธเป็นเหตุของความยากไร้และความหายนะ จงตอบโต้ความโกรธของผู้อื่นด้วยความรักและความเมตตา โดยวิธีนี้เราจะทำให้ผู้อื่นหายโกรธได้ คนโง่เท่านั้นที่ปล่อยตัวเองให้โกรธ” ...อีกละ โง่อีกละ..
• ศาสนาบาไฮ “จงอย่าโกรธแค้นชึ่งกันและกัน จงมีความรักต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเพื่อพระผู้ป็นเจ้า ไม่ใช่เพื่อตนเอง เราจะไม่มีอารมณ์โกรธหรือรำคาญหากเรารักผู้อื่นเพื่อพระเจ้า”
• ศาสนาชินโต “จงเว้นความโกรธเคืองและเว้นจากกิริยาที่แสดงความโกรธเคือง”
• ศาสนาซิก “โทสะเปรียบเหมือนถ้วยซึ่งบรรจุเรื่องโลกีย์ มีทิฐิเป็นบริการความลุ่มหลงในสิ่งจอมปลอม และความโลภเป็นตัวสังหารมนุษย์”
...ได้รู้สึกตัวอย่างแท้จริงก็เมื่อมีคำสอนเรื่องนี้จากศาสดาทั้งโลกมาสอน อาการหนักนะเราเนี่ย แต่ก่อนหน้านี้ก็คิดได้อยู่เลาๆว่า “คนที่ขาดสติด้วยความโกรธแย่ยิ่งกว่าคนที่ขาดสติเพราะของมึนเมาซะอีก” ... ต้องปรับปรุงเรื่องนี้อย่างแรง อายุมากแล้ว เดี๋ยวดัดยาก สาธุ ขอให้นิสัยนี้อย่าถ่ายทอดสู่ลูกเลย

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

มหัศจรรย์นิทานกับพ่อ

การอ่านหนังสือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คิดไว้แล้วว่าจะเพาะบ่มให้มีอยู่ในตัวลูก ไม่ได้เริ่มเร็วเหมือนอย่างที่บาง
คนแนะนำให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะเป็นคนชอบอ่านในใจค่ะ อีกทั้งถ้าพูดเสียงดังนานๆแล้วเสียงจะแหบ เจ็บคอ น่ารำคาญมาก เลยไม่ทำ มาเริ่มเมื่อลูกเริ่มนั่งได้และใช้มือไขว่คว้าสิ่งของมากขึ้น สนใจโลกนี้นักใช่ไหมเจ้าหนู มามะมาดูนี่ แล้วก็หยิบหนังสือดิกชันนารีเล่มเล็กแต่หนามากรีดให้ลูกดู ลูกมองด้วยความสนใจ นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่ง นอกจากนี้ ยังยอมให้ลูกรื้อตู้หนังสือที่เขาเอื้อมถึงให้มากองรายรอบแล้วให้ลูกเลือกว่าจะหยิบเล่มไหนมาลองกรีดเหมือนแม่ (ยอมเหนื่อยเก็บหนังสือ ดีกว่าตวาดเวลาที่ลูกรื้อตู้หนังสือ) เวลาเก็บก็ให้เค้าช่วย แล้วเราก็จัดเรียงหนังสือใหม่อย่างตั้งใจ ให้เขาเห็นว่าแม่ให้ความสำคัญกับหนังสือเพียงใด และการที่บ้านเราไม่มีหนังสือพิมพ์ ทำให้เราไม่ต้องเอากระดาษที่มีตัวหนังสือมาฉีก มาขย่ำให้ลูกเห็นก็น่าจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่เคยฉีกหนังสือเลย แต่แม้จะพยายามหาหนังสือที่คิดว่าลูกจะชอบมาอ่านให้ฟังก็ดูจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เปิดเวปสองภาษาก้เห็นว่าแม่หลายคนบ่นเรื่องนี้เหมือนกัน เราเองก็ท้อแท้ จนได้เคล็ด(ไม่)ลับ ในการเรียกร้องความสนใจจากลูกมาจากรายการโทรทัศน์ ว่าก็ที่จะให้เด็กสนใจกิจกรรมที่เราทำอยู่ต้องทำเสียงตื่นเต้นค่า..เช่น แม่งึมงำอ่านหนังสืออยู่ลูกลุกเดินหนี จัดการเลย ทำเสียงตื่นเต้นสุดๆ “โอ้โห นี่อะไรเนี่ย”(ชี้ในหนังสือ) ร้อยทั้งร้อยค่ะเสร็จแม่ อิอิ ในทีวีก้เห็นเด็กหลงกลทีนึงละ มาลองกับเด็กที่บ้านก็ได้ผลแล้วได้ผลอีกเชียวค่ะ
การเริ่มอ่านนิทานจริงๆจังๆให้ลูกฟังน่าจะเริ่มเมื่อตอนที่ตาส่งหนังสือที่ทางกระทรวงสาธารณะสุขแจกหนังสือเล่มแรกให้กับเด็กที่เกิดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง มีทั้งเป็นเรื่องสั้น(แต่อาจจะยาวและน่าเบื่อสำหรับเด็ก)ก็ใสอารมณ์ตื่นเต้น ทำเสียงเล็กเสียงน้อย ไม่ต้องตามหนังสือเป๊ะค่ะ ดัดแปลงเอามั่งตามสถานการณ์ (แม่ที่เก่งต้องมีไหวพริบในการเลี้ยงลูก อิอิ เอ..ชมตัวเองรึเปล่าเนี่ย) และที่เด็กชอบอีกอย่างคือที่เป็นบทกลอน มีจังหวะ นอกจากนี้ควรให้เขามีส่วนร่วม เช่น ถ้าเราอ่านให้เค้าฟังรอบนึงแล้วมีขอเบิ้ล ในรอบสองนี้ต้องให้ลูกมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่อง หรือแม่อาจจะตั้งคำถาม แกล้งทำเป็นจำไม่ได้ว่าตัวนี้พูดว่าอะไร สารพัดที่แม่จะออกลีลา(เป็นแม่นี่มันช่างท้าทายความสามารถจริงๆ) ความสำเร็จในตอนนี้เป็นที่น่าพอใจก็คือลูกจะหยิบหนังสือมาให้พ่อหรือแม่อ่านให้อย่างน้อยหนึ่งเล่มก่อนนอน ไม่ว่าจะง่วงสักเท่าไรก็ตาม แค่นี้ก็พอใจแล้วค่ะ มาตรฐานไม่สูง เอาแค่ทุกคนในบ้านมีความสุขก็พอแล้ว
อีกอย่างหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากๆและเห็นหลายๆ(แม่)บ้านก็ทำคือ (บังคับ)ให้คุณพ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง แม่ปลูกฟัง ให้พ่อช่วยสานต่อ คุณพ่อทั้งหลายเชื่อไหมคะ ถึงจะอ่านผิดๆถูกๆ ตะกุกตะกักยังไง แต่ลูกมีความสุขนะ ที่ได้อยู่ใกล้ชิดพ่อที่วันๆไม่ได้เจอหน้า(เพราะพ่อต้องทำงานทั้งวัน) ลูกเราจะชอบให้พ่ออ่านให้ฟังมาก ลูกบอกว่า “อ่านหนังสือกับพ่อสนุก” มันทำให้เรานึกถึงตอนเราเด็กๆที่เรากับน้องหนุนแขนพ่อคนละข้างแล้วพ่อก็เล่านิทาน(ที่คิดว่าพ่อคงแต่งเอง)ให้ฟัง มันมีความสุขและยังเป็นความทรงจำที่ไม่ลืมเลือน ... ลองดูนะคุณพ่อ อ่านนิทานง่ายกว่าทำงานอีกนะคะ

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ภาษาของลูก

ในช่วงแรกเราก็ใช้ภาษาไทยกับลูก ปู่ย่าใช่ภาษาถิ่นตามความถนัด จนกระทั่งสามีได้เห็นพี่บิ๊ก เจ้าของแนวคิดเด็กสองภาษาที่โด่งดัง ตอนนั้นลูกอายุประมาณ 10 เดือน ทำให้เขาตาลุกวาวและโยนภาระนั้นมาให้เราในบัดดล ด้วยความเก่งภาษาอังกฤษเหลือเกิน(ประชด) ทำให้นอกจากคู่มือคือหนังสือของพี่บิ๊ก ก็ต้องรื้อตำราภาษาอังกฤษมาอ่าน เข้าเวปเด็กสองภาษาทุกวัน..ไฟแรงมาก แต่ทุกสิ่งย่อมมีอุปสรรค อันดับแรก อุปสรรคในตัว เพราะเลือกการสอนแบบ full time เราต้องพูดอังกฤษกับลูกคนเดียว ตลอดเวลา ด้วยความไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเอง ทำให้กดดันมาก จนบางครั้งไม่พูดกับลูกเพราะกลัวพูดผิด อันดับสอง จากคนรอบข้าง ที่หมั่นไส้ความกระแดะของสามีภรรยาคู่นี้ ส่งมาเป็นคำพูดกระแทกแดกดัน ยิ่งเวลาผ่านไป ถึงวัยที่ลูกควรจะพูดได้แล้วเขาไม่พูด ยิ่งโดนถากถางจนแทบหมดกำลังใจ ..เมื่อเราตัดสินใจแน่วแน่ในสิ่งใด จงมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ หากมันเกิดปัญหา แก้ไขไม่ได้ ก็วางมันลงสักพัก ให้เราพอมีกำลังแล้วค่อยกลับไปแบกมันใหม่...
กล่าวได้ว่าที่ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นจนมาถึงวันที่ชื่นใจได้ก็เนื่องด้วยผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ความคิดในเวป เด็กสองภาษานั่นเองที่คอยให้คำปรึกษา ปลอบประโลมใจให้เข้มแข็ง แถมยังเป็นแหล่งความรู้ชั้นยอด ไม่ใช่แค่ภาษา ยังรวมถึงความรู้ในการเลี้ยงลูกด้านอื่นๆด้วย
ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าที่ลูกเราพูดช้าก็เนื่องจากเขาสับสนภาษา เพราะเขาเข้าใจทุกอย่างที่เรา(อังกฤษ) พ่อ(ไทยกลาง) ปู่ย่าและแวดล้อม(ไทยใต้) พูดและสั่งให้ทำ เมื่อความกดดันเริ่มมากขึ้น เราตัดสินใจที่จะใช้ภาษาไทยกับลูก แต่เพื่อให้ไม่เสียฟอร์ม ก็ต้องลองถามความเห็นลูกก่อน ในคืนหนึ่ง ขณะอ่านหนังสือ(ภาษาไทย)ก่อนนอน ถามลูกว่า “ Nong Thup do you want mom talk with you like this or พูดภาษาไทย” ลูกมองหน้า เราถามต่อ “อยากให้แม่พูดอย่างนี้ไหม” ลูกพยักหน้า เอาล่ะ ได้ข้ออ้างแล้ว อิอิ
จากวันที่เราเริ่มใช้ภาษาอังกฤษกับลูกตั้งแต่ลูกอายุประมาณ 10 เดือน ลองผิดลองถูก จนปรับใหม่เมื่อลูกอายุ 2 ขวบกว่า วิถีทางที่ลงตัวในการสอนภาษาอังกฤษให้ลูก ณ วันนี้คือ ใช้ภาษาไทยกับลูกในเวลาปกติ ให้ลูกดูการ์ตูนภาษาอังกฤษ เพื่อจะให้ลูกได้สำเนียง การออกเสียงที่ถูกต้อง(เราก็แอบฟังไปด้วย ฝึกไปในตัว) ถ้าลูกพูดภาษาอังกฤษกับเราเมื่อไหร่เราจึงตอบเป็นภาษาอังกฤษ เท่านั้นเอง ไม่กดดันตัวเอง สอนลูกเหมือนสอนทักษะอื่นๆทั่วๆไปด้วยหลักการเดียวคือ เราเชื่อว่าลูกจะบอกเราเองว่าเขาพร้อมที่จะรับอะไร ด้วยการสังเกตของเราซึ่งเป็นแม่นั่นเอง

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ชื่อ(ลูก)นั้น สำคัญไฉน

นอกจากการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ให้ลูกแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่เราลืมพูดถึง ทั้งที่มันสำคัญมากๆ มาโดนสะกิดให้นึกขึ้นได้ว่าควรเขียนก็เนื่องมาจากชื่อของลูกเรานั่นเอง ที่สร้างความไม่พออกไม่พอใจให้กับญาติที่เคารพบางคน ซึ่งก็บ่นมาตั้งแต่เริ่มตั้งชื่อ จนปัจจุบันลูกเราอายุ 3 ขวบแล้วก็ยังไม่เลิก อธิบายเหตุผลแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ขออนุญาตมาอธิบาย(ระบาย)ในหน้าบอร์ดของเราละกัน
ชื่อว่าหนังสืออีกเล่มที่พ่อแม่มือใหม่จะต้องมีคือ คู่มือตั้งชื่อลูก อิชั้นก็เช่นกัน หาที่เปิดอ่านแล้วถูกจริตมาหนึ่งเล่ม กันเหนียว คืออย่างน้อยๆก็ช่วยดูให้ไม่มีตัวกาลกิณีอะไรประมาณนั้น เอามาบวกลบคูณหาร เปิดหาชื่อที่เขายกตัวอย่างมา(เผื่อจะถูกใจ) แต่ก็มีกฎเกณฑ์กว้างๆอยู่ในใจนะคะ คือ ต้องการชื่อไทยๆที่ไม่ต้องแปล(คือไม่อยากได้ชื่อภาษาบาลี สันสกฤต ที่ต้องมาเปิดตำราแปลอีก) ไม่ซ้ำใคร เขียนง่ายๆ ไม่ต้องคอยสะกดให้คนอื่นให้เสียเวลา แล้วก็เข้าเกณฑ์หลักสากลของการตั้งชื่อ เอาแค่ไม่มีตัวกาลกิณี..แค่นี้แหละ
หลังจากคุยกันก็ได้ชื่อจริงลูกชายมา ชื่อ”เวลา”ค่ะ เพราะลูกคือสิ่งที่มีค่าที่สุด สำคัญที่สุด และเราก็คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลกนี้คือ เวลา เราเลยอยากให้ชื่อเล่นว่า “ธาม”จะได้คล้องจองกะชื่อจริง( Time) แต่พ่อเขาไม่ต้องการชื่อที่ฟังดูเป็นฝรั่ง(อย่างเด็ดขาด)ทั้งที่อธิบายแล้วว่าพ้องเสียงเฉยๆ ด้วยความอยากให้ลูกใช้ชื่อที่มี “ธ” สิ่งไหนน่าจะมีคุณค่าและชื่อนี้น่าจะมีน้อย ด้วยความเป็นคนสนใจเรื่องวัดวา เลยเสนอชื่อ “ธูป” โดยมองในแง่ที่ ธูปเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อเค้าเห็นด้วย อีกทั้งบวกลบคูณหารตามสูตรแล้วก็ออกมาดี ไม่มีปัญหา
เมื่อความคิดตกผลึก ก็เข้าสู่ขั้นปฏิบัติ ทันใดเช่นกันเมื่อฝ่ายญาติผู้มีอุปการคุณทราบเข้าเท่านั้นแหละค่ะ ด.ช.เวลาเลยได้ใช้ชื่อเวลาเพียง 3เดือน พ่อก็ต้องรีบแจ้นไปเปลี่ยนเพราะทนความกดดันไม่ไหว ได้ชื่อใหม่ แม่อีกนั่นแหละคิด “เปรมสุข” ยังไม่เป็นที่พอใจแต่ก็ลดเสียงรบกวนรอบหูได้ระดับหนึ่ง มาถึงชื่อเล่น ก็ยังโดนอยู่เป็นระรอกตามความถี่ของการพบปะ
ถึงตอนนี้อยากจะบอกฝ่ายญาติผู้มีอุการคุณทั้งหลายเหลือเกินว่า การจะติติงเรื่องใดต่อใครนั้นควรกระทำครั้งเดียวให้ท่านหายอาการอึดอัดใจก็พอ เพราะถ้าหลายครั้งเข้าความอึดอัดใจจะย้ายไปสู่ผู้ถูกติ อันจะทำให้การสนทนาติดขัดได้ เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อท่านก็ให้เป็นวิจารณญาณของเขาเถิด อีกทั้งท่านควรให้เกียรติเขาในฐานะที่เขาสามารถสร้างลูกขึ้นมาเองก็ควรให้เขามีสิทธิ์ในการตั้งชื่อลูกที่เขาทำมาเองกะมือสิคะ ท่านอยากได้ชื่อใด ควรไปทำ(ลูก)เอาเองเป็นของตัวเองจะได้ดั่งใจท่าน.....สิ่งเหล่านี้ไม่ได้บอกจริงหรอกค่ะ ยังต้องรักษาน้ำใจกันไว้(ทั้งที่ท่านฯไม่ค่อยรักษาน้ำใจเราเลย) ชื่อลูกนี่สำคัญจริงๆ...นะ จะบอกให้