วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ภาษาของลูก

ในช่วงแรกเราก็ใช้ภาษาไทยกับลูก ปู่ย่าใช่ภาษาถิ่นตามความถนัด จนกระทั่งสามีได้เห็นพี่บิ๊ก เจ้าของแนวคิดเด็กสองภาษาที่โด่งดัง ตอนนั้นลูกอายุประมาณ 10 เดือน ทำให้เขาตาลุกวาวและโยนภาระนั้นมาให้เราในบัดดล ด้วยความเก่งภาษาอังกฤษเหลือเกิน(ประชด) ทำให้นอกจากคู่มือคือหนังสือของพี่บิ๊ก ก็ต้องรื้อตำราภาษาอังกฤษมาอ่าน เข้าเวปเด็กสองภาษาทุกวัน..ไฟแรงมาก แต่ทุกสิ่งย่อมมีอุปสรรค อันดับแรก อุปสรรคในตัว เพราะเลือกการสอนแบบ full time เราต้องพูดอังกฤษกับลูกคนเดียว ตลอดเวลา ด้วยความไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเอง ทำให้กดดันมาก จนบางครั้งไม่พูดกับลูกเพราะกลัวพูดผิด อันดับสอง จากคนรอบข้าง ที่หมั่นไส้ความกระแดะของสามีภรรยาคู่นี้ ส่งมาเป็นคำพูดกระแทกแดกดัน ยิ่งเวลาผ่านไป ถึงวัยที่ลูกควรจะพูดได้แล้วเขาไม่พูด ยิ่งโดนถากถางจนแทบหมดกำลังใจ ..เมื่อเราตัดสินใจแน่วแน่ในสิ่งใด จงมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ หากมันเกิดปัญหา แก้ไขไม่ได้ ก็วางมันลงสักพัก ให้เราพอมีกำลังแล้วค่อยกลับไปแบกมันใหม่...
กล่าวได้ว่าที่ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นจนมาถึงวันที่ชื่นใจได้ก็เนื่องด้วยผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ความคิดในเวป เด็กสองภาษานั่นเองที่คอยให้คำปรึกษา ปลอบประโลมใจให้เข้มแข็ง แถมยังเป็นแหล่งความรู้ชั้นยอด ไม่ใช่แค่ภาษา ยังรวมถึงความรู้ในการเลี้ยงลูกด้านอื่นๆด้วย
ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่าที่ลูกเราพูดช้าก็เนื่องจากเขาสับสนภาษา เพราะเขาเข้าใจทุกอย่างที่เรา(อังกฤษ) พ่อ(ไทยกลาง) ปู่ย่าและแวดล้อม(ไทยใต้) พูดและสั่งให้ทำ เมื่อความกดดันเริ่มมากขึ้น เราตัดสินใจที่จะใช้ภาษาไทยกับลูก แต่เพื่อให้ไม่เสียฟอร์ม ก็ต้องลองถามความเห็นลูกก่อน ในคืนหนึ่ง ขณะอ่านหนังสือ(ภาษาไทย)ก่อนนอน ถามลูกว่า “ Nong Thup do you want mom talk with you like this or พูดภาษาไทย” ลูกมองหน้า เราถามต่อ “อยากให้แม่พูดอย่างนี้ไหม” ลูกพยักหน้า เอาล่ะ ได้ข้ออ้างแล้ว อิอิ
จากวันที่เราเริ่มใช้ภาษาอังกฤษกับลูกตั้งแต่ลูกอายุประมาณ 10 เดือน ลองผิดลองถูก จนปรับใหม่เมื่อลูกอายุ 2 ขวบกว่า วิถีทางที่ลงตัวในการสอนภาษาอังกฤษให้ลูก ณ วันนี้คือ ใช้ภาษาไทยกับลูกในเวลาปกติ ให้ลูกดูการ์ตูนภาษาอังกฤษ เพื่อจะให้ลูกได้สำเนียง การออกเสียงที่ถูกต้อง(เราก็แอบฟังไปด้วย ฝึกไปในตัว) ถ้าลูกพูดภาษาอังกฤษกับเราเมื่อไหร่เราจึงตอบเป็นภาษาอังกฤษ เท่านั้นเอง ไม่กดดันตัวเอง สอนลูกเหมือนสอนทักษะอื่นๆทั่วๆไปด้วยหลักการเดียวคือ เราเชื่อว่าลูกจะบอกเราเองว่าเขาพร้อมที่จะรับอะไร ด้วยการสังเกตของเราซึ่งเป็นแม่นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น