เมื่อลูกป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่มักจะกังวลใจจนแทบจะป่วยไปกับลูก หรือ บางคนมีอาการหนักมากกว่าลูกเสียอีก เพราะไม่ทราบว่าควรจะดูแลลูกอย่างไรดี เมื่อมีอาการป่วยเกิดขึ้น ยิ่งช่วงนี้เข้าหน้าหนาว อากาศเปลี่ยน อย่างน้อยๆ เด็กในสังกัดเราก็คงน้ำมูกย้อยกันบ้างล่ะน่า ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่เป็นและพบได้บ่อยมีดังนี้
ไข้ อาการไข้ เป็นสัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ใช้ปรอทวัดไข้ วัดอุณหภูมิของร่างกาย ถ้าคุณพ่อคุณแม่วัดไข้ทางปากโดยให้ลูกอมปรอทไว้ใต้ลิ้น หุบปากสนิทนาน 1 นาที อ่านอุณหภูมิได้เกิน 37.8 C ถือว่ามีไข้ ถ้าวัดปรอททางรักแร้โดยหนีบปรอทแน่น 1 นาที อ่านอุณหภูมิเกิน 37.3 C ถือว่ามีไข้ หรือการวัดปรอททางทวารหนักในเด็กเล็ก เกิน 38 C จึงจะถือว่ามีไข้
สาเหตุของไข้ ดังได้กล่าวข้างต้นว่าใช้เป็นสัญญาณของความผิดปกติ ดังนั้นจึงต้องหาสาเหตุที่ทำให้ เกิดไข้ สาเหตุของไข้ที่พบได้บ่อยได้แก่
- จากโรคติดต่อ
- จากการได้รับวัคซีน
- จากการอักเสบ
- ไข้หลังผ่าตัด
- ไข้จากการขาดน้ำ
เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เด็กจะตัวร้อน อาจมีหนาวสั่น ตัวแดงหน้าแดงหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ในเด็กโตจะบอกได้ว่า ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อ อาการไข้สูงถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะมีโอกาสชักได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ควรทำการลดไข้ให้เร็วที่สุด ดังนี้
- ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ
- อยู่ในที่มีลมถ่ายเทสะดวก หรือในห้องแอร์ที่ไม่เย็นจัด
- เช็ดตัวลดไข้ โดยถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2 – 3 ผืน ชุบน้ำธรรมดา สลับกันเช็ดตัวเด็กทั้งตัว โดยเน้นบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และหลังจนกว่าไข้จะลดลง การใช้ผ้าโปะไว้เฉพาะบริเวณหน้าผาก ไม่ช่วยทำให้ ไข้ลดลง
- หลังเช็ดตัวแล้ว ควรใช้ผ้าแห้งซับให้แห้ง แล้วใส่เสื้อผ้าบาง เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดี
- ถ้ามียาลดไข้ Paracetamol ให้รับประทานตามแพทย์สั่ง รับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ายังมีไข้
ถ้าลูกยังมีไข้สูงติดต่อกัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรพบแพทย์
หวัด อาการหวัด น้ำมูกไหล พบได้บ่อยในเด็ก เด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือน จะพบได้ประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน ใน 2-3 ขวบปีแรกที่ลูกเริ่มไปโรงเรียน จะเป็นหวัดได้บ่อย เนื่องจากที่โรงเรียนจะมี เด็กอยู่รวมกันมาก ทำให้ลูกติดหวัดจากเพื่อนได้ และเป็นวนเวียนกันไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็ก โตขึ้น อายุเกิน 6 ปี อาการหวัดจะลดลงเหลือเพียง 2-3 ครั้งต่อปีเท่านั้น อาการหวัดจะพบได้บ่อย เมื่อมีอากาศเปลี่ยนแปลง อากาศเย็นหรือฝนตก อาการของหวัด จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ มีไข้ ซึ่งอาการไข้มักมีอยู่ประมาณ 3 วัน ไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่อาการไออาจนานถึง 2-3 สัปดาห์ได้
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส
การดูแลรักษา เชื้อไวรัสหวัดเป็นเชื้อที่ยังไม่มียารักษา ดังนั้นการรักษาหวัด จึงเป็นการรักษาตามอาการ โดยที่ถ้ามีไข้ จะให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ถ้ามีน้ำมูกมากให้ยาลดน้ำมูก ดื่มน้ำบ่อย ๆ พักผ่อนมาก ๆ ถ้าไอให้ยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำอุ่น จะช่วยให้อาการหวัดดีขึ้น
เวลาลูกมีน้ำมูกไหล ไอจะดูแลอย่างไร
- ในเด็กเล็ก น้อยกว่า 6 เดือน ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูก ดูดเสมหะในคอ ก่อนมื้อนม หรือใช้ผ้านิ่มพันปลายแหลม ซับน้ำมูกในรูจมูก ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูก เพราะจะทำให้เสมหะแห้งเหนียว เด็กไอไม่ออกได้
- ในเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ถ้ามีน้ำมูกมากสามารถให้ยาลดน้ำมูกได้ ให้ยาละลายเสมหะเมื่อไอ
- ถ้าแน่น คัดจมูก ใช้ยาหยอดจมูกได้ แต่ไม่ควรหยอดติดต่อกันนานเกิน 4-5 วัน - ในเด็กโต ให้สั่งน้ำมูกเบา ๆ ถ้าลูกเป็นหลายวันแล้ว ยังมีน้ำมูกมาก เป็นยวงเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อน ควรพามาพบแพทย์เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าน้ำมูกเริ่มแห้ง และเป็นสีเขียว แสดงว่ากำลัง หายจากหวัด ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ ได้แก่
- หูน้ำหนวก เด็กจะมีไข้สูง ปวดหู มีหนองไหลจากหู
- ไซนัสอักเสบ จะมีไข้ ปวดบริเวณหน้าผาก จมูก แก้ม น้ำมูกเขียวจำนวนมาก และมีกลิ่นเหม็น
- หลอดลมอักเสบ จะไอมาก หายใจแรง
- ปอดบวม จะมีไข้สูง ไอมาก หอบหายใจเร็วและแรง
เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์
อาเจียน
เมื่อลูกอาเจียน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตุลักษณะอาเจียนที่ออกมา ว่าเป็นเศษอาหาร เสมหะ สีอะไร อาเจียนแบบพุ่งหรือไม่พุ่ง เนื่องจากลักษณะอาเจียนต่าง ๆ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
อาเจียนเกิดจากอะไร สาเหตุของอาเจียนมีได้ ดังนี้
- จากสมอง มักมีอาเจียนพุ่ง
- จากทางเดินอาหาร เช่น การอุดตันของกระเพาะ ลำไส้ หรือมีการอักเสบ ของทางเดินอาหาร
- สาเหตุทางกายอื่น ๆ เช่น ไข้สูง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- สาเหตุอื่น เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป
เมื่ออาเจียนออกมาแล้วมักจะสะบายขึ้น เมื่อลูกอาเจียนจึงควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาต่อไป
ถ้าลูกอาเจียนจะดูแลอย่างไร
- ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย โดยให้ทีละน้อย บ่อย ๆ
- ให้น้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียน โดยให้จิบทีละน้อยและบ่อย ๆ
- ให้ยาแก้อาเจียนตามแพทย์สั่ง ควรให้รับประทาน 1/2 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร
เมื่อมีอาเจียนมาก รับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้เลย ซึมลง มีอาการขาดน้ำ กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ตาโหล ผิวหนังเหี่ยว แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด และรักษาสาเหตุต่อไป
ท้องเสีย
อาการท้องเสีย คือ การถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เกิดจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ เชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคไม่ติดเชื้อได้ เช่น การแพ้นมวัว อาการท้องเสียพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากเด็กขาดน้ำ และเกลือแร่ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะช็อคและเสียชีวิตได้ อาการขาดน้ำมีตั้งแต่ รุนแรงน้อย จนถึง รุนแรงมาก ได้แก่ ริมฝีปากแห้ง กระหายน้ำ กระหม่อมบุ๋ม (ในเด็กอายุต่ำกว่าขวบครึ่งที่กระหม่อมยังไม่เปิด) ตาโหล ผิวหนังเหี่ยว ตัวเย็น หมดสติ
คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกท้องเสีย
- ควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปทางอุจจาระ โดยให้น้ำเกลือผง ORS ดื่มแทนน้ำ ตามปริมาณอุจจาระที่เสียไป เมื่อผสมแล้วควรใช้ภายใน 1 วัน
- ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและพลังงาน ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย งดผักผลไม้และอาหารมัน ๆ สามารถให้นมแม่ หรือนมกระป๋องได้ ควรให้ทีละน้อยแต่ให้บ่อย ๆ
- ไม่ควรให้ยาแห้ท้องเสีย เพราะจะทำให้ลำไส้หยุดทำงาน ลูกจะท้องอืดและเชื้อโรคยังคงค้างอยู่ในลำไส้ ทำให้ไม่หายจากโรค
- ถ้ายังมีอาการขาดน้ำมาก ลูกไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ ควรรีบ มาพบแพทย์
จะป้องกันไม่ให้ลูกท้องเสียได้อย่างไร
- รับประทานอาหารสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม
- ฝึกสุขนิสัยที่ดี ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
- ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร ขวดนม
- เด็กเล็กที่ชอบหยิบของใส่ปากควรทำความสะอาดของเล่นอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถดูแลลูกให้ปราศจากท้องเสียได้
ชัก
อาการชักในเด็ก เป็นอาการที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ควรจะเตรียมตัวไว้ เผื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับลูก จะได้มีสติและให้การดูแลก่อนที่จะนำส่งแพทย์ เนื่องจากเด็กมักชักไม่นาน เมื่อมาถึงมือแพทย์ส่วนใหญ่จะหยุดชักแล้ว
อาการชัก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ทำให้มีอาการดังนี้ ร้องสั้น ๆ กล้ามเนื้อแข็ง เกร็งกระตุก หยุดหายใจชั่วคราว ตาเหลือก ปากเขียว น้ำลายฟูมปาก ปัสสาวะอุจจาระราด หมดสติ เมื่อหยุดชักอาจมีสับสน ง่วงนอนได้
ชักเกิดจากอะไร สาเหตุของชักในเด็ก มีได้หลายสาเหตุ ที่พบบ่อยมีดังนี้
- ไข้สูง
- ติดเชื้อในสมอง
- โรคลมชัก
- สมองขาดออกซิเจน
- บาดเจ็บที่ศีรษะ
อาการชักจากไข้สูง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี โดยเฉพาะในเด็ก ที่มีประวัติชักในครอบครัว มีพี่น้อยเคยชักจากไข้สูง จะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น อาการชักไม่เกิน 15 นาที เป็นการชักทั้งตัว และไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาท
เมื่อลูกชักควรให้การดูแล ดังนี้
- เอาตัวออกจากสิ่งที่เป็นอันตราย มานอนในที่ปลอดภัย โดยให้นอนตะแคงหน้า ไปด้านใดด้านหนึ่ง
- ปลดเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ควรกดท้อง จะทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในได้ - ไม่ควรใช้สิ่งของหรือนิ้วมืองัดปาก เนื่องจากเวลาเด็กชักไม่ค่อยพบว่ากัดลิ้นตัวเอง แต่จะเป็นอันตรายมากกว่าถ้าใช้สิ่งของงัดปาก
- ดุแลเรื่องการหายใจ ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปาก
- ห้ามกรอกยาหรือเครื่องดื่มใด ๆ ระหว่างชัก เพราะจะทำให้สำลักเข้าหลอดลมได้
- สังเกตอาการชัก และอยู่กับลูกจนหยุดชัก
- ถ้ามีไข้สูง ให้เช็ดตัวลดไข้
- ในรายที่เคยชักและมียาเหน็บแก้ชักให้เหน็บยาทางทวารหนักตามแพทย์สั่ง
- รีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป
" ลูก " เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ อาการเจ็บป่วยของลูก บางครั้งการให้การดูแล เบื้องต้นอย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยให้ลูกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง สุขภาพดี เป็นผู้ใหญ่ที่มี ประสิทธิภาพ และเป็นกำลังสำคัญของชาติสืบไป
เรียบเรียงจาก "อาการป่วยที่พบบ่อยในเด็ก" โดย แพทย์หญิง วรรณสิริ วรรณสถิตย์ "สาระน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น