วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กลัวลูกสายตาสั้น1

เพราะปล่อยให้ลูกใช้คอมฯเองนานๆ อีกทั้งสังเกตว่าลูกกระพริบตาถี่เกิน ด้วยความกังวลจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสายตาสั้นในเด็ก เพราะเคยมีลูกของเพื่อนร่วมงานที่ต้องใส่แว่นตาหนาเตอะตั้งแต่ชั้นอนุบาล ..รับไม่ได้ถ้าลูกชายสุดหล่อจะถูกบดบังด้วยแว่นหนาๆ... เอาข้อมูลมาแบ่งปันค่ะ

เด็กสายตาสั้น (momypedia)โดย: ผศ.นพ.ธรรมนูญ สุรชาติกำธรกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

เด็กทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มักจะสายตายาว แต่ก็มีบางส่วนที่จะมีสายตาสั้นได้ แม้ว่าสำหรับเด็กเล็กภาวะสายตาสั้นจะไม่ส่งผลกระทบเท่าไหร่ แต่หากสั้นมากก็อาจมีความเสี่ยงเรื่องโรคตาอื่น ๆ ได้

ต้นตอเด็กเล็กสายตาสั้น
ภาวะสายตาสั้น คือจะมองเห็นวัตถุที่ใกล้ชัดเจน ส่วนวัตถุที่ไกลมองเห็นไม่ชัดเจน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็ดสายตาสั้นนั้น มีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้ค่ะ

1. กรรมพันธุ์ จากประสบการณ์ของการตรวจคนไข้ของหมอ พบว่าถ้าพ่อแม่มีสายตาสั้น ลูกที่เกิดมามักจะมีโอกาสสายตาสั้นมากกว่าคนทั่วไป ประมาณ 25% หรือหากพ่อแม่สายตาสั้นทั้งคู่ ลูกมีโอกาสสายตาสั้น 30-40%

2. สิ่งแวดล้อม จะพบเด็กสายตาสั้นได้บ่อยในกลุ่มเด็กที่เรียนหนังสือมาก เพราะต้องใช้สายตาเพ่งมองมาก ๆ และเพ่งมองใกล้ ๆ

กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน นอกจากนี้ยังพบสายตาสั้นในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เพราะเด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ มักมีจอประสาทตาเสื่อมจากการคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีจอประสาทตาเสื่อมมองกลางคืนไม่ชัด เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าลูกสายตาสั้น
เด็กที่สายตาสั้นจะมองวัตถุที่ไกลไม่ชัด แต่เด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถที่จะบอกพ่อแม่ให้รู้ได้ จึงต้องอาศัยจากการสังเกตพฤติกรรมหรือลักษณะท่าทาง เพราะลูกจะมีการปรับพฤติกรรมของตัวเอง ได้แก่ เอียงหน้ามอง (ทำให้ดูเหมือนตาเหล่ได้) หรี่ตามอง ขมวดคิ้วเวลาดู TV หรือวัตถุที่ไกล หรือลูกอาจจะชอบดูหนังสือใกล้ ๆ เพื่อให้มองเห็นชัดขึ้น

สำหรับเด็กอายุที่น้อยที่สุดที่พบสายตาสั้น อาจพบในทารกที่อายุไม่ถึง 1 เดือนก็ได้ โดยกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงคือกลุ่มที่ครอบครัวมีประวัติสายตาสั้นหลายคน หรือมีสายตาสั้นมาก ๆ หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งต้องได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ แต่ถ้าสายตาสั้นไม่มาก ก็ไม่มีอันตรายอะไร แต่ถ้าสั้นมากจนเป็นพัน (-10.0 diopters) ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องจอประสาทตาเสื่อม วุ้นตาเสื่อม จอประสาทตาลอก หรือต้อหินได้

สายตาสั้นแก้ไขได้
ถึงแม้ว่าเด็กเล็กสายตาสั้นจะพบได้น้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลนะครับ เพราะสายตาสั้นในเด็กสามารถแก้ไขได้

ใส่แว่น ถ้าลูกสายตาสั้นไม่มาก อาจไม่จำเป็นต้องใช้แว่น แต่ถ้าเข้าเรียนหนังสือ แล้วมองกระดานไม่ชัดเจน อาจทำให้การเรียนหนังสือตามเพื่อนไม่ทัน ก็มีความจำเป็นต้องใส่แว่น และแว่นที่ใส่ในเด็กควรเป็นแว่นราคาไม่แพง เลนส์ควรเป็นพลาสติก เพื่อเป็นการป้องกันการแตกของเลนส์ที่เป็นแก้ว แล้วบาดดวงตา

พ่อแม่บางท่าน มักสงสัยว่า การใส่แว่นตลอดและใส่แว่นแบบใส่ๆ ถอดๆ จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะใส่แว่นตลอดเวลา หรือใส่ ๆ ถอด ๆ หรือไม่ใส่แว่นเลย เมื่อมีสายตาสั้นแล้ว สายตาสั้นจะเพิ่มทุกปี ปีละประมาณ 50-100 (0.5 – 1.0 diopter) ไปจนอายุประมาณ 20 ปีเศษๆ ก็จะหยุดสั้น

ใส่ Contact Lens ควรใช้ในเด็กที่โตแล้วและมีความรับผิดชอบ เพราะบางคนชอบใส่ Contact Lens เป็นแฟชั่น ไม่ดูแลรักษาความสะอาด จะทำให้เกิดภาวะตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรืออักเสบติดเชื้อที่ตาได้ การใส่ Contact Lens ควรใส่ด้วยความระมัดระวัง และดูแลทำความสะอาดให้ดี

ผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น เช่น การใส่เลนส์เข้าภายในลูกตา หรือการใช้แสงเลเซอร์ (LASIK) ควรทำเมื่ออายุประมาณ 20 ปี ไปแล้วเพราะช่วงวัยนั้นสายตาสั้นเริ่มคงที่แล้วครับ

แม้ว่าจะมีเด็กเล็กเพียงส่วนน้อยที่สายตาสั้น แต่การรู้จักอาการสายตาสั้นไว้ เพื่อจะได้สังเกตอาการแต่เนิ่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำความเข้าใจไว้ครับ

...ยังไม่เข้าเกณฑ์ อีกทั้งทดสอบลูกโดยให้บอกตัวหนังสือที่อยู่ระยะไกลๆ เค้ายังบอกได้ น่าจะยังไม้ใช่ แต่ยังไงก็คงต้องระวังเรื่องการใช้คอมฯให้มากขึ้นค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น