วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปรัชญา(ส่วนตัว)ในการเลี้ยงลูก

เริ่มเรื่องลูกกันเสียที สมมุติว่าย้อนไปยังอดีตที่ยังไม่มีลูก สิ่งที่คนเป็นลูกอย่างเราคิดอย่างเดียวคือ สิ่งไหนที่พ่อแม่ทำกะเราแล้วเราไม่ชอบ เราว่ามันไม่ถูก ไม่ควรทำ(กับลูก) เราจะไม่ทำ เช่น การดุด่าด้วยคำที่ไม่สุภาพ ใช้เสียงดัง ฯลฯ อันไหนที่พ่อแม่ทำกับเราแล้วเราชอบ เราจะทำ เช่น การที่พ่อเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน เป็นต้น
ในที่นี้ถ้าที่ลูกไม่ชอบคือเรื่องการมีระเบียบวินัยต่างๆที่ควรจู้จี้ สิ่งอันตรายที่ควรถูกห้ามไม่ให้ทำ ยังจำเป็นต้องมีเพราะลูกจะขอบคุณเราในภายหลัง แค่นี้เองปรัชญาการเลี้ยงลูกของเรา ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยก็ต้องไปดูที่นิสัยลูกเราอีกว่าเป็นอย่างไร เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ มีหลายสิ่งที่หลอมรวมจนเป็นนิสัยของเขาขึ้นมา ไม่ว่าการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม และนิสัยที่ติดมากับยีนส์ (ไม่อย่างนั้นเขาจะมีคำกล่าวที่ว่า เชื้อไม่ทิ้งแถว ลูกเสือลูกจระเข้ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ฯลฯ หรือ) เราเชื่ออย่างแน่นเหนียวว่า นิสัยบางอย่างของพ่อแม่หากทำเป็นประจำจนซึมลึกถึงหน่วยความจำของยีนส์ ลูกก็มีแนวโน้มที่จะมีนิสัยดังกล่าวอันนี้พูดในแง่วิทยาศาสตร์ ถ้าพูดในแง่ของหลักศาสนาพุทธของเราก็คือกรรม(การกระทำ)ที่พ่อแม่ทำจะตกไปถึงลูกนั่นเอง เมื่อเติบใหญ่ สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมแต่กำเนิดได้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของการเลี้ยงดู
ณ เวลาที่เรายังไม่ได้เป็นแม่ เราพยายามครุ่นคิดเสมอว่าเรายังไม่ดีพอและถ้ามีลูกเราจะเลี้ยงลูกให้ดีกว่าที่เราเป็น อย่างเต็มความสามารถ หากเมื่อลูกเติบโตขึ้นไม่เป็นดังที่คาดหวังเราก็จะใจกว้างยกให้เป็นกรรม(การกระทำ)ของเจ้าลูกเอง ในเมื่อป้อนแต่ข้อมูลดีๆเข้าไป มีแต่สิ่งดีๆอยู่รอบตัวยังจะไปเลือกทำสิ่งไม่ดี ถึงวันนั้นเราก็.....จะแล้วแต่สูเต๊อะ ล่ะก๊า
ไม่ใช่ตัดหางปล่อยวัด ยังจะเป็นที่พึ่งและกำลังใจให้ลูกเสมอ เพียงแต่จะไม่ทุกข์เพราะลูก(หรือปลงให้ได้มากทีสุดว่ากรรมใครกรรมมัน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น